ปศุสัตว์ยืนยันคุมโรคอยู่ หมูไม่ขาดตลาด เกษตรกรกลับมาเลี้ยงมากขึ้น

ปศุสัตว์ยืนยันคุมโรคอยู่ หมูไม่ขาดตลาด เกษตรกรกลับมาเลี้ยงมากขึ้น มั่นใจมีปริมาณเพียงพอ

นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ติดตามความเคลื่อนไหวจำนวนสุกรและจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรอย่างต่อเนื่อง 

F252444B CBD6 491A A7CE 0078E6DE6874

ภายหลังการสำรวจข้อมูล จำนวนสุกรและจำนวนเกษตรกรในเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา เสร็จสิ้นและรายงานเป็นที่เรียบร้อย โดยในครั้งนี้เป็นการปรับปรุงข้อมูลผ่านระบบทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ (DLD e-Regist) ที่ดำเนินการโดยสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเป็นผู้ตรวจทาน รับรองข้อมูล และจัดส่งรายงานฯ แจ้งผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์มายังกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์(กลุ่มวิจัยเศรษฐกิจปศุสัตว์) ซึ่งได้ทำงานร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมปศุสัตว์ เพื่อรวบรวมวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูลสถานการณสุกรในประเทศล่าสุดดังนี้ 

ข้อมูลจำนวนสุกรและจำนวนเกษตรกรประจำเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นดังนี้

1. จำนวนสุกรทั้งหมดในเดือนพฤษภาคม รวมทั้งสิ้น 10,334,563 ตัว เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร 109,612 รายประกอบด้วย สุกรพ่อพันธุ์ 54,934 ตัว สุกรแม่พันธุ์ 1,042,077 ตัว สุกรขุน 9,060,488 ตัว

2. ข้อมูลสุกรและจำนวนเกษตรกรเดือนพฤษภาคม 2565 เปลี่ยนแปลงจากเดือนเมษายน 2565 เป็นดังนี้

2.1 สุกรแม่พันธุ์เดือนพฤษภาคม 2565 เป็น 1,042,077 ตัว ลดลงจากเดือนเมษายน 2565 ที่มีจำนวนแม่พันธุ์เป็น 1,055,499 ตัว หรือลดลง 13,422 ตัว คิดเป็นร้อยละ 1.27 ซึ่งเป็นการลดลงในอัตราไม่สูง อาจกล่าวได้ว่าแม่พันธุ์ในระบบการผลิตค่อนข้างไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ ยังเป็นแรงจูงใจในการเลี้ยงสุกร 

ส่งผลให้ราคาลูกสุกรขนาดน้ำหนัก 16 กิโลกรัม ที่เกษตรกรซื้อเพื่อนำไปขุนในเดือนพฤษภาคม ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน เป็นตัวละ 3,500 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.30 แม้ว่าภาระต้นทุนการผลิตด้านอาหารสัตว์ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าน้ำ ค่าไฟ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม

2.2 สุกรขุนเดือนพฤษภาคม 2565 เป็น 9,060,488 เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2565 มีจำนวน 9,005,141 ตั๋ว หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 55,347 ตัว คิดเป็นร้อยละ 0.61 เนื่องจากราคาสุกรมีชีวิตที่ขายหน้าฟาร์มสูงขึ้นต่อเนื่อง 

2E4C99B4 9E71 4AB9 A759 8CE4B5EB6258

ทั้งนี้ จำนวนดังกล่าว คิดเป็นผลผลิตสุกรขุนที่จะออกสู่ตลาดเฉลี่ยเดือนละ 1.51 ล้านตัว (เฉลี่ย 6 เดือน) ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการตลาดในประเทศ ที่คาดการณ์ไว้เดือนละประมาณ 1.50 ล้านตัว

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ไทยจะประสบปัญหากับการเกิดโรคระบาดในต้นปี 2565 แต่สถานการณ์เวลานี้ทุกอย่างอยู่ในการควบคุมดูแลของกรมปศุสัตว์ทั้งหมด ส่งผลให้เกษตรกรมีความเชื่อมั่นและกลับเข้าสู่ระบบการเลี้ยงสุกรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณสุกรที่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ