อธิบดีปศุสัตว์ แจ้งด่วนปศุสัตว์เขตและทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพิ่มระดับคุมเข้ม”โรคลัมปีสกิน” 

อธิบดีกรมปศุสัตว์แจ้งด่วนไปยังไปสำนักงานปศุสัตว์และปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ เน้นย้ำให้เพิ่มระดับการคุมเข้ม”โรคลัมปีสกิน”ในโค-กระบือ โดยให้ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆในทุกจังหวัด เนื่องจากสภาวะอากาศ”ฤดูฝน”เอื้อต่อการติดเชื้อได้ง่าย

นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ แจ้งเตือนไปยังสำนักงานปศุสัตว์เขต 1-9 และปศุสัตวจังหวัดทุกจังหวัด โดยระบุว่า แม้ปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ได้ร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัด  อปท.ทั่วประเทศ ควบคุมโรคลัมปีสกินได้อยู่ในวงจำกัดแล้ว 

2FF38A20 8F7A 4C9B AA54 FFB8E0BC4295

อย่างไรก็ตาม มีบางพื้นที่ยังมีเชื้อหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อมประกอบกับปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝน สภาพอากาศชื้นแฉะ เหมาะแก่การแพร่พันธุ์ ของแมลงพาหะของโรค ทำให้โค กระบือมีความเสี่ยงป่วยด้วยโรคลัมปี สกินได้ 

ดังนั้นจึงขอให้ทุกส่วน ดำเนินการเร่งรัดดำเนินการควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรค โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังพบโรคภายในระยะเวลา 30 วัน ดังต่อไปนี้

A72C5274 C348 4FDE B146 2F792FCD600E

  1. ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนทัองถิ่น KICK-OFF รณรงค์พ่นสารกำจัดแมลงและพ่นยาฆ่าเชื้อทำลายเชื้อโรคในฟาร์มโค กระบือ ตลาดนัดโค กระบือ พร้อมทำความสะอาดปรับภูมิทัศน์โดยรอบฟาร์มให้ปลอดโปร่ง ไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์ของแมลงพาหะ กำจัดมูลสัตว์ออกจากฟาร์มเป็นประจำ

  2. ให้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ให้กับลูกสัตว์และสัตว์ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโรคลัมปีสกิน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีอัตราการตายสูงสุด และสัตว์ป่วยจะแสดงอาการรุนแรง

  1. เข้มงวดควบคุมการเคลื่อนย้ายโค กระบือ

  4. ประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ให้กับเกษตรกรเกี่ยวกับโรคและวิธีการป้องกันโรคลัมปีสกิน โดยการใช้ หลอดไฟไล่แมลงและกางมุ้งเพื่อป้องกันแมลงดูดเลือด การใช้สารฆ่าแมลงแบบพ่นและแบบราดบนตัวสัตว์ การปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของสถานที่เลี้ยงสัตว์รวมทั้งให้ข้อมูลสถานการณ์โรคที่เป็นปัจจุบันเพื่อให้เกษตรกรเข้มงวดเฝ้าระวังและสังเกตอาการสัตว์ของตนเอง หากพบอาการสงสัยตามนิยาม ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที

  5. ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการลงพื้นที่ในฟาร์มโคเนื้อ โคนม และกระบือ เพื่อค้นหาสัตว์ป่วย สร้างความร่วมมือ และสร้างเครือข่ายในพื้นที่ในการปฏิบัติงาน เพื่อให้การดำเนินงานในการควบคุมโรคตามมาตรการที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรน้อยที่สุด ตามหลัก “รู้เร็ว คุมเร็ว สงบโรคได้เร็ว”

  6. เน้นย้ำเกษตรกรหากพบสัตว์แสดงอาการน่าสงสัยให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารงานส่วนตำบลในพื้นที่ หรือโทรแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ที่เบอร์โทร 063-225-6888 หรือผ่านแอปพริเคชันDLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันท่วงที 

  7. ในการรายงานสัตว์ป่วยใหม่ในทุกกรณีให้มีรูปถ่ายในทุกกรณีและมีการสอบสวนโรคในทุกเคสเพราะบางจังหวัดอาจต้องการค้าชดเชยทำให้มีการแจ้งเกินความเป็นจริง ตามประสบการณ์ในปีก่อน  

โดยขอให้ปศุสัตว์เขต ติดตาม กำกับ ดูแลการปฏิบัติงานของปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่อย่างใกล้ชิดและขอให้รับปฏิบัติอย่างเข้มงวด เคร่งครัดด้วย เพราะหากพบว่าปล่อยปะละเลย จำเป็นต้องมีการใช้อำนาจทางปกครองโดยเด็ดขาดต่อไป ลงชื่อนายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ 14 มิถุนายน 2564