“กระชายดำ”พืชสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน

ผลตรวจเลือดของเกษตรกรที่อยู่ในระดับไม่ปลอดภัย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายหน่วยงานพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรปลอดภัย เช่นเดียวกับที่องค์การบริหารส่วนตำบลวอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ผลักดันให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชระบบปลอดภัยและมีตลาดรองรับให้เกษตรกร จนเกิดการรวมกลุ่มในนาม“วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลวอแก้ว” เมื่อปี 2558 ผลผลิตของกลุ่มทั้งข้าวอินทรีย์และพืชผักอินทรีย์ได้รับมาตรฐาน Organic Thailand ส่งจำหน่ายในตลาดชุมชน ตลาด We Market ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง

กระชายดำเป็นพืชใหม่และเป็นโอกาสใหม่ให้ชาวบ้าน เราหวังว่ากระชายดำจะเป็นพืชสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน อย่างน้อยตอนนี้ก็มีตลาดรองรับ” สายัณห์ ฉัตรแก้ว หัวหน้าสำนักปลัด อบต.วอแก้ว และผู้ประสานงานกลุ่มวิสาหกิจฯ บอกถึงโอกาสของชาวบ้านจากการปลูกกระชายดำเพื่อผลิตส่งให้บริษัทแปรรูปสมุนไพร ซึ่งเกิดจากการเชื่อมโยงตลาดของ สวทช. โดยราคารับซื้ออยู่ที่ 500-800 บาท/กก. ขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพและปริมาณสารสำคัญกลุ่มฟลาโวนอยด์และฟีนอลิกในกระชายดำและราคาตลาดในขณะนั้น

pic herb 6 1024x683 1
กระชายดำ

กระชายดำ เป็นสมุนไพรที่น้อยคนในพื้นที่จะรู้จัก เมื่อมีตลาดรอรับซื้อแล้ว การปลูกให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญที่สมาชิกฯ คำนึงถึง สวทช. จึงได้เชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมทำงานกับกลุ่มวิสาหกิจฯ และอบต. ภายใต้โครงการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อชุมชน (CTAP) เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตกระชายดำในระบบเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่การปลูกถึงแปรรูป

“เป็นสมุนไพรใหม่ ไม่เคยรู้จักมาก่อน ก็น่าสนใจที่จะลองปลูก ใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 100 ตารางวา ดูแลไม่มาก ถ้าผลผลิตออกมาดี ก็จะปลูกต่อ จะได้มีผลผลิตทั้งผักอินทรีย์และสมุนไพรอินทรีย์”อังศุมาลิน สุทธวัฒน์ หนึ่งในสมาชิกที่อาสาทดลองปลูกกระชายดำ

“เนื่องจากเป็นพืชใหม่ในพื้นที่ มีสมาชิกฯ 10 คน อาสาทดลองปลูก ยังไม่คาดหวังเรื่องผลผลิตและรายได้ในปีแรก มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นเรียนรู้ให้กลุ่มฯ เก็บข้อมูลลักษณะพื้นที่ที่เหมาะสม การให้ปุ๋ยและน้ำ เพื่อพัฒนาการปลูกในปีต่อไป” สายัณห์ เล่าถึงการส่งเสริมปลูกกระชายดำในช่วงปีแรก โดยมีพื้นที่ปลูกรวม 3 ไร่ สมาชิกกลุ่มฯ ที่เข้าร่วมใช้พื้นที่ตามความเหมาะสมของตัวเอง บ้างใช้พื้นที่นา แปลงผัก พื้นที่ข้างบ้านหรือใต้ต้นไม้ใหญ่หลังบ้าน ซึ่งจากการติดตามของ สายัณห์ ทำให้เห็นข้อแตกต่างของพื้นที่ปลูกกระชายดำ “กระชายดำต้องการที่ร่มรำไร การเจริญเติบโตของต้น ใบ การแตกหน่อดีกว่า การปรุงดินก็มีส่วน บางแปลงเป็นดินที่เคยทำนา อินทรียวัตถุน้อย บางแปลงเป็นพื้นที่สวน ปรุงดินดี ทรงพุ่มเยอะโต แตกหน่อดี ผลผลิตก็จะเยอะ”

จากการทดลองปลูกในปีแรก ผลผลิตที่คาดว่าจะได้ประมาณ 1,000 กก. ซึ่งส่วนหนึ่งจะเก็บเป็นหัวพันธุ์สำหรับฤดูกาลปลูกหน้า อีกส่วนจะนำมาแปรรูปฝานเป็นแว่น ตากแห้งและส่งตัวอย่างให้บริษัทที่รับซื้อตรวจสอบปริมาณสำคัญก่อนที่จะส่งจำหน่าย

“ตอนนี้กลุ่มฯ ได้สร้างโรงตากไว้รองรับการผลิตสมุนไพรตากแห้ง ซึ่งกระชายดำเป็นสมุนไพรนำร่อง และยังมีสมุนไพรอื่นๆ ที่ทางกลุ่มฯ เริ่มปลูกและเรียนรู้ เช่น ขมิ้นชัน ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มรายได้ให้สมาชิกกลุ่มฯ ได้ต่อไป” สายัณห์ บอกทิ้งท้าย