นายกฯร่วมยินดี การเลี้ยงควายปลักทะเลน้อย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่า ภูมิปัญญาการเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ของจังหวัดพัทลุง ได้รับการขึ้นและทะเบียนจากองค์การอาหารเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ให้เป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย (Global Important Agricultural Heritage Systems: GIAHS)

IMG 61559 20221112085836000000 scaled
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เกณฑ์การพิจารณาการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร ประกอบด้วย 1.ความมั่นคงอาหาร ชีวิตความเป็นอยู่ดี 2.ความหลากหลายทางชีวภาพเกษตร 3.ระบบความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีมาแต่ดั้งเดิม 4.วัฒนธรรม ระบบคุณค่า และองค์กรทางสังคม 5.ลักษณะภูมิทัศน์, ภูมิทัศน์ทางทะเล ซึ่งการเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมามากว่า 250 ปีแล้ว การที่พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น จะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจในท้องถิ่นเติบโต ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ได้

“นายกรัฐมนตรี มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของไทย ที่เป็นมรดกตกทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษได้รับการยอมรับ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์กรสหประชาชาติ สะท้อนให้เห็นว่า มรดกและภูมิปัญญาของไทยนั้นทรงคุณค่า ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังขอบคุณไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ดำเนินงานตอบรับตามแนวนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการพัฒนามรดกภูมิปัญญาของไทย จนได้รับรางวัลนี้ รวมทั้งขอบคุณประชาชนทุกคนที่ได้ร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรม และภูมิปัญญาอันดีงามของไทยเอาไว้เรื่อยมา” นางสาวรัชดาฯ กล่าว

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม (สปษ.โรม) ได้รับแจ้งจากนาย Yoshihide ENDO ฝ่ายเลขานุการมรดกโลกทางการเกษตรว่า ข้อเสนอโครงการการเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง และ จ.สงขลา ผ่านความเห็นชอบจากกรรมการที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Advisory Group: SAG) ของ FAO และได้ประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร (Global Important Agricultural Heritage Systems หรือ GIAHS) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และนับเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย

สำหรับพื้นที่ในระบบมรดกทางการเกษตรโลก หมายถึง พื้นที่ที่มีความโดดเด่นในการจัดการใช้ที่ดินและภูมิทัศน์ ในพื้นที่ซึ่งอุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ชุมชนมีการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดย FAO กำหนดองค์ประกอบหรือหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกพื้นที่ ดังนี้

1.เป็นพื้นที่ที่มีความมั่นคงทางอาหารและชีวิตความเป็นอยู่ โดยระบบมรดกทางการเกษตรโลกที่นำเสนอควรสนับสนุนความมั่นคงทางด้านอาหารและการหาเลี้ยงชีพของชุมชนในท้องถิ่น แสดงถึงการทำมาหากินหลัก ซึ่งรวมถึงการจัดหาและการแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนในท้องถิ่นเพื่อสร้างระบบการหาเลี้ยงชีพและอาหารแบบยั่งยืน

2.มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทางการเกษตรและทรัพยากรพันธุกรรมเพื่ออาหารและการเกษตร (พรรณ/ความหลากหลาย/สายพันธุ์ของพืชหรือสัตว์เฉพาะถิ่น/หายาก/ใกล้สูญพันธุ์)

3.มีการอนุรักษ์ภูมิปัญญาและการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในท้องถิ่นในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ

4.มีระบบวัฒนธรรมทางการเกษตร ที่เป็นค่านิยม ประเพณี ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ พิธีกรรม เทศกาลและปฏิทินทางการเกษตร และโครงสร้างทางสังคม