นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อน มุ่งป้องกันและปราบปรามสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง โดยในช่วงวันที่ 25-30 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กำกับ ติดตาม การดำเนินงานของคณะทำงานชุดปฏิบัติงานเฉพาะกิจป้องกันการลักลอบการนำเข้า-นำผ่าน ยางพารา ที่ร่วมบูรณาการปฏิบัติงานกับหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กองกำลังสุรสีห์ พนักงานเจ้าหน้าที่จากสถานีตำรวจภูธรสังขละบุรี การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดกาญจนบุรี เกษตรอำเภอสังขละบุรี และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายเมธาสิทธิ์ คนการ หัวหน้าด่านตรวจพืชสังขละบุรี เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และได้สั่งการให้สารวัตรเกษตรและเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ออกปฏิบัติการดำเนินการตรวจสอบและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ได้รับรายงานจากด่านตรวจพืชสังขละบุรีว่า ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ได้ร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานความมั่นคง ชุดปฏิบัติการพิเศษหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กองกำลังสุรสีห์ จังหวัดกาญจนบุรี ที่บริเวณจุดตรวจร่วมน้ำเกริก ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นด่านตรวจสุดท้ายก่อนถึงชายแดนไทย-เมียนมา ช่องทางจุดผ่อนปรนทางการค้าและท่องเที่ยวบ้านพระเจดีย์สามองค์ พบรถยนต์กระบะขนยางต้องสงสัยกระทำผิดกฎหมาย 3 คัน เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบพบว่า มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำผิด ลักลอบการนำเข้ายางพาราจากประเทศเพื่อนบ้าน จึงยึดหรืออายัดยางก้อนถ้วยเพื่อตรวจสอบ พร้อมขยายผลเพิ่มเติมโดยได้อายัดรถยนต์กระบะขนยางต้องสงสัยกระทำผิดกฎหมายเพิ่มเติมอีก 3 คัน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 พบเป็นยางก้อนถ้วย เพื่อตรวจสอบ ผลตรวจสอบที่มาของยางก้อนถ้วยทั้งหมด และทำการสืบสวนทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง
“จากการปฏิบัติการลงพื้นที่ตรวจสอบรถยนต์กระบะขนยางก้อนถ้วยต้องสงสัยกระทำผิดกฎหมาย รวมทั้งสิ้น 6 คัน และได้ยึดหรืออายัดยางก้อนถ้วยเพื่อตรวจสอบมีน้ำหนักโดยประมาณคันละ 5,000 กิโลกรัม รวมน้ำหนัก โดยประมาณทั้งสิ้น 30,000 กิโลกรัม (30 ตัน) ซึ่งได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น พื้นที่ปลูก และ ปริมาณที่ผลิตในพื้นที่ ตลอดจนข้อมูลในทุกมิติเพื่อหาจุดเชื่อมโยงความผิดตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ.2542 ในขณะนี้กรมวิชาการเกษตร ได้เตรียมความพร้อมในการควบคุมการป้องกัน การลักลอบการนำเข้ายางธรรมชาติ อยู่ระหว่างดำเนินการของสำนักนิติการ กรมวิชาการเกษตร ซึ่งจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ”
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การควบคุมการนำเข้า นำผ่านยางนำผ่าน (TRANSIT) กรมวิชาการเกษตรทำหน้าที่กำกับดูแลตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีประกาศ ประกาศกรมวิชาการเกษตร. เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการนำเข้าหรือนำผ่าน. ซึ่งสิ่งต้องห้าม สิ่งกํากัด และสิ่งไม่ต้องห้าม. พ.ศ 2551 ดังนั้นเพื่อเป็นการปกป้องพื้นที่ปลูกยางของประเทศไทย และอุตสหกรรมยางพาราภายในประเทศ หากมีการลักลอบ หรือนำเข้ายางที่มีการปนเปื้อน มีความสกปรก มีความชื้นสูงและไม่มีคุณภาพ และมีความเสี่ยงของโรคแมลงศัตรูพืช มีความเสี่ยงต่อการระบาดในสวนยาง และแปลงเกษตรอื่น ๆ ภายในประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร จำเป็นต้องควบคุมการนำผ่านสินค้ายาง โดยจะต้องขออนุญาตให้นำผ่านจากกรมวิชาการเกษตร โดยจะเป็นกลไกในการตรวจสอบสินค้าร่วมกับศุลกากรในการนำผ่านจากด่านต้นทางไปยังด่านปลายทาง โดย ”กวก. จะสร้างความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติกับผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศุลกากร การยางแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการนำผ่าน หน่วยงานความมั่นคง เพื่อร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานป้องกันลักลอบนำเข้ายาง”