หมาก จัดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่น่าจับตามอง เนื่องจากในระยะที่ผ่านมามีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ในปี 2564 มีมูลค่าการส่งออกมากถึง 5.23 พันล้านบาท ส่วนใหญ่ส่งออกไปที่เมียนมา มากเกือบ 85% การบริโภคผลหมากมีต้องการแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม
หมากอุสาหกรรมใช้หมากสุก (แก่) ส่วนหมากสดแตกต่างกันตามตลาด เช่น ไต้หวันบริโภคผลอ่อนขนาดค่อนข้างเล็ก ขณะที่จีนบริโภคผลอ่อนตามภาพ ซึ่งเมื่อผ่าผลหมาก จะพบร่องอยู่บริเวณส่วนกลางของผล
ซึ่งหมากผลอ่อน จะถูกแปรรูปเบื้องต้นโดยการต้มทั้งผลและอบแห้ง ก่อนส่งไปที่จีนเพื่อแปรรูปขั้นสุดท้ายเป็นหมากแห้งพร้อมรับประทาน
โดยมีการนำส่วนเนื้อกลางผลออก (สีส้มอ่อนมีรสฝาด) แล้วเติมกลิ่นรส เช่น ช็อกโกแลต มินต์ หรืออื่นๆสำหรับเคี้ยวให้ชุ่มคอ ลมหายใจสดชื่น ระงับกลิ่นปาก
สำหรับลักษณะหมากสดที่ตลาดจีนต้องการ จะเป็นหมากที่มีผลยาวก้นแหลม โดยในการปลูกจะพบต้นหมากดังกล่าวประมาณ 40-50% จึงควรมีการพัฒนาพันธุ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เทคโนโลยีการผลิต การเก็บเกี่ยว และการแปรรูป
เกษตรกรบอกตรงกันว่า ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ตลาดมีความต้องการ”หมาก”สูง ทำให้ราคาตลาดดีมาก ตั้งแต่ช่วงก่อนถึงฤดูกาลเก็บผลผลิต ในเดือนธันวาคม-มกราคม เมื่อปี 2564 ราคารับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท สูงกว่าปีก่อน ที่ราคา 35-40 บาท และราคาเฉลี่ยทั้งปี 60 บาท มีช่วงสั้นๆที่หมากขาดตลาด ทำให้ราคาขยับสูงถึง 100 บาท และคาดว่าปีนี้ราคาเฉลี่ย อาจจะถึงกิโลกรัมละ 70 บาท
ในประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากหมากมาตั้งแต่อดีต เช่น เมล็ดใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์ เช่นสุนัข ไก่ชน และแกะ ด้วยการนำผลแก่มาบดให้สัตว์กิน
ยอดอ่อนของลำต้นสามารถนำมารับประทานเป็นอาหารจำพวกผักได้ ส่วนจั่นหมากหรือดอกหมากเมื่อยังอ่อนอยู่ ก็ใช้รับประทานเป็นอาหารได้เช่นกัน
ช่อดอกซึ่งมีกลิ่นหอมจะถูกนำมาใช้ในงานแต่งงานและงานศพ กาบใบนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการทำภาชนะ เครื่องจักสาน หรือวัสดุห่อหุ้มสิ่งของ เช่น ปลอกมีด เนื้อในเมล็ดนำมาใช้ในการผลิตสีย้อมผ้าเปลือกผลนำมาใช้ทำเป็นเชื้อเพลิง
หมากจัดเป็นไม้ยืนต้นจำพวกปาล์ม มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร ลำต้นตั้งตรง เป็นต้นเดี่ยวไม่แตกกิ่งก้าน ดังนั้นวิธีการขยายพันธุ์จึงใช้วีการเพาะเมล็ดเพียงวิธีเดียว ผลหมากที่จะนำมาเพาะนั้น ควรเป็นผลที่ปล่อยให้แก่หรือสุกบนต้นจนเกือบจะร่วง ซึ่งเป็นผลที่มีอายุ 7-8 เดือนขึ้นไป เปลือกสีเหลือง(ชาวบ้านเรียกว่าหมากสง) ส่วนการปลูก ดินที่เหมาะต้องเป็นดินร่วนปนทรายหรือเป็นดินเหนียวก็ยังสามารถปลูกได้
ช่วง 6 เดือน หมากจะทยอยออกตัดขายได้ 3 ช่วง คือ ช่วงแรกเดือนมกราคม-มีนาคม ตัดหมากเขียวหรือหมากเวียดนามที่ส่งออกรับประทานผลสด และส่วนใหญ่ส่งไต้หวัน
ช่วงที่ 2 เดือนที่ 3-4 มีนาคม-เมษายน หมากเหนียวหรือเขียวหน้าเต็มเนื้อแข็ง และช่วงที่ 3 เดือนที่ 5-6 พฤษภาคม-มิถุนายน จะเป็นหมากแดงหรือหมากสุก
นอกจากประเทศไทย ซึ่งประชาชนนิยมกินหมากแล้ว ยังมีประเทศไต้หวัน เมียนมา อินเดีย ศรีลังกามาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็นิยมกินหมากเช่นกัน และหมากนอกจากบริโภคแล้ว ยังเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมฟอกหนัง เส้นใย ทำสีย้อมแห ย้อมอวน สกัดทำยาสมุนไพร ยารักษาโรค ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในรอบ 2-3 ปีนี้ราคาขยับขึ้นทุกปี
ขอบคุณข้อมูลจาก : Horticulture Research Institute /เทคโนโลยีชาวบ้าน