อคส. โละสต๊อกข้าว ล็อตสุดท้าย 1.5 หมื่นตัน ปิดตำนาน “โครงการรับจำนำข้าว”เก่าเก็บ 18 ปี

5f64898c5f82d
เกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.)

วันที่ (25 ม.ค.2567) นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เข้ามารับผิดชอบ อคส. กว่า 3 ปีที่ผ่านมา ได้รวบรวมข้าวคงเหลือในสต็อกทั้งในและนอกบัญชีคลังกลางรวมถึงข้าวนอกคลังปี 48/49 แล้วกว่า 240,000 ตัน เสนอขออนุมัติจาก นบข.โดยอคส.เร่งประกาศระบายตั้งแต่ปี 2565 และส่งมอบเสร็จสิ้นแล้ว ยกเว้นข้าวตกค้างที่ส่งมอบไม่เรียบร้อยโดยเฉพาะจากการยึดหน่วง ซึ่งคงเหลือข้าวหอมมะลิจำนวน 2 คลังในจ. สุรินทร์ ปริมาณรวม 15,013 ตันข้าวสาร มูลค่า 300 ล้านบาท ที่ผู้ชนะประมูลได้เมื่อปี 2563 ไม่มาชำระเงินก่อนรับมอบข้าว

ดังนั้นอคส.จึงบอกเลิกสัญญาพร้อมดำเนินคดีต่อสำนักงานอัยการสูงสุด เนื่องจากเป็นความผิดของผู้ซื้อเองและระบายไม่ทันสิ้นเดือนก.ย. 2566 ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่ นบข. อนุมัติ อคส.จึงรวบรวมเรื่องเพื่อขออนุมัติใหม่จาก นบข. เมื่อต้นเดือนพ.ย.2566 ซึ่งได้รับอนุมัติให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนก.ย.2567

” เนื่องจากช่วงระยะเวลาไตรมาส 4 ของปี 2566 เป็นช่วงที่ชาวนาเก็บเกี่ยวผลผลิต เราก็เกรงว่าหากระบายช่วงดังกล่าวจะมีผลต่อราคาข้าวเปลือก จึงได้เลื่อนให้พ้นช่วงดังกล่าวก่อน และมาเปิดประมูลข้าวเป็นการทั่วไปในเดือนมกราคม 2567 ซึ่งได้ประกาศ TOR แล้วเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 และจะเปิดคลังสินค้าให้ผู้สนใจประมูลเข้าดูสภาพข้าวระหว่างวันที่ 25-29 มกราคม 2567 โดยให้ยื่นซองคุณสมบัติในวันที่ 31 มกราคม 2567 และจะเปิดซองในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 มั่นใจการส่งมอบข้าวจะเสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ 31 มีนาคม 2567 ดังนั้นที่ผ่านมาจึงได้ให้ความเป็นธรรมตามสมควรแล้ว”

ส่วนเหตุที่ระบายไม่ทันเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการทักท้วง TOR ที่กำหนดไว้ว่าต้องแสดงหลักฐานการเงินที่เพียงพอต่อการซื้อ จึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการ TOR ทบทวนพิจารณาข้อทักท้วงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ TOR ได้พิจารณาอย่างรอบคอบและคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐจากการระบายข้าวที่ผ่าน ๆ มา จึงได้ยืนยันกรอบ TOR เดิมเพื่อดำเนินการระบายข้าวให้เสร็จสิ้นต่อไป

ในส่วนปัญหาการชำระเงินมีมาอย่างต่อเนื่อง การระบายข้าวของคลังที่จะประมูลนั้น ผ่านการประมูลมาแล้ว 3 ครั้งด้วยกัน ในปี 2557, 2558 และ 2563 ทุกครั้งมีปัญหาการชำระเงินก่อนรับมอบสินค้า จนต้องบอกเลิกสัญญาพร้อมดำเนินคดีและประมูลใหม่

นอกจากนี้ การประมูลข้าวในปี 2565 ได้กำหนด คือ ต้องแสดงหลักฐานการเงิน ส่งผลให้ไม่มีปัญหาเรื่องการส่งมอบและเสร็จสิ้นทุกคลัง ยกเว้นมีผู้ประกอบการบางรายที่ยื่นราคาน้อยกว่าผู้ชนะการประมูล ร่วม 85 ล้านบาท ได้ยื่นเรื่องกล่าวหาว่ามีการทุจริตต่อ ป.ป.ช. และขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวน

ทั้งนี้โครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการช่วยเหลือเกษตรกรในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นโยบายประชานิยมสุดโต่งที่ต้องการให้ชาวนาลืมตาอ้าปากมีรายได้โดยให้ชาวนานำผลผลิตมาแลกเป็นเงิน ความพิเศษ คือ ไม่จำกัดโควตาและกำหนดราคาไว้สูงกว่าราคาตลาด

โดยโครงการรับจำนำปี 2556/2557 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์และรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มี 6 โครงการ ปริมาณข้าวที่รับจำนำ 51,902,401 ตัน มูลค่าความเสียหาย 787,504,258,687 บาท เฉพาะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มี 4 โครงการ ปริมาณข้าว 44,663,247 ตัน มูลค่าความเสียหาย 701,237,831,765 บาท ซึ่งหากอคส.สามารถระบายข้าวหมดสต๊อกถือว่าเป็นการปิดตำนานโครงการรับจำนำข้าวที่สร้างความเสียหายให้กับวงการข้าวอย่างมหาศาล

โดยโครงการรับจำนำปี 2556/2557 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์และรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มี 6 โครงการ ปริมาณข้าวที่รับจำนำ 51,902,401 ตัน มูลค่าความเสียหาย 787,504,258,687 บาท เฉพาะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มี 4 โครงการ ปริมาณข้าว 44,663,247 ตัน มูลค่าความเสียหาย 701,237,831,765 บาท ซึ่งหากอคส.สามารถระบายข้าวหมดสต๊อกถือว่าเป็นการปิดตำนานโครงการรับจำนำข้าวที่สร้างความเสียหายให้กับวงการข้าวอย่างมหาศาล