ส่งออกข้าวไทย ปี 2566 จำนวน 8.76 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี เพิ่ม 13.62% ทะลุเป้าที่ตั้งไว้ 8 ล้านตัน ส่วนปี 67 ตั้งเป้า ลดเหลือ 7.5 ล้านตัน เหตุผลผลิตลด การแข่งขันรุนแรง ผลผลิตข้าวโลกเพิ่ม หลายประเทศลดนำเข้า

กรมการค้าต่างประเทศสรุปตัวเลขส่งออกข้าวไทยปี 66 ทำได้ 8.76 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13.62% ทะลุเป้าที่ตั้งไว้ 8 ล้านตัน อินโดนีเซียขึ้นเป็นตลาดอันดับหนึ่ง ตามด้วยแอฟริกาใต้ อิรัก สหรัฐฯ และจีน ส่วนปี 67 ตั้งเป้า 7.5 ล้านตัน เหตุผลผลิตลด การแข่งขันรุนแรง ผลผลิตข้าวโลกเพิ่ม หลายประเทศลดนำเข้า และข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง 

ณรงค์ พูลพิพัฒน์
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวไทยในปี 2566 มีปริมาณ 8.76 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี เพิ่มขึ้น 13.62% เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 8 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 178,136 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.43% หรือประมาณ 5,144 ล้านเหรียญสหรัฐ นับตั้งแต่ปี 2561โดยตลาดสำคัญ 5 ลำดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย สัดส่วน 16.11% เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย รองลงมา คือ แอฟริกาใต้ สัดส่วน 10.10% อิรัก 9.74% สหรัฐฯ 8.06% และจีน 5.38% และในจำนวนข้าวที่ส่งออก แยกเป็นข้าวขาว สัดส่วน 55.54% ข้าวหอมมะลิไทย 19.17% ข้าวนึ่ง 15.70% ข้าวหอมไทย 5.97% ข้าวเหนียว 2.97% และข้าวกล้อง 0.65%
         

ทั้งนี้ หากแยกการส่งออกเป็นรายภูมิภาค โดยเอเชีย ได้แก่ อินโดนีเซีย จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และฮ่องกง มีสัดส่วน 41.14% แอฟริกา ได้แก่ แอฟริกาใต้ เซเนกัล แคเมอรูน โมซัมบิก โกตดิวัวร์ เบนิน สัดส่วน 28.46% ตะวันออกกลาง ได้แก่ อิรัก เยเมน อิสราเอล ซีเรีย ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สัดส่วน 13.26% อเมริกา ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา บราซิล เปอร์โตริโก เม็กซิโก สัดส่วน 11.54% ยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร อิตาลี เบลเยียม สัดส่วน 3.31% โอเชียเนีย ได้แก่ ปาปัวนิวกินี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิจิ สัดส่วน 2.29%
         

นายรณรงค์กล่าวว่า เป้าหมายการส่งออกข้าวไทยในปี 2567 กรมได้ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์ร่วมกันว่าจะส่งออกได้ปริมาณ 7.5 ล้านตัน ลดลงจากปี 2566 เพราะผลผลิตข้าวของไทย คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนถึง 5.87% เป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และการส่งออกที่อาจเผชิญกับการแข่งขันและความท้าทายหลายประการ ปริมาณผลผลิตข้าวโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณอุปทานข้าวโลกเพิ่มขึ้น การนำเข้าข้าวของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากความนิยมของการบริโภคข้าวลดลง อาทิ จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ทำให้การแข่งขันทางด้านราคารุนแรงขึ้น ขณะที่ไทยมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศผู้ผลิตและประเทศผู้ส่งออก เช่น จีน เวียดนาม และอินเดีย

นอกจากนี้ มีสัญญาณว่าอินโดนีเซียอาจซื้อข้าวน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เพราะมีข้าวค้างสต็อกจากปี 2566 ค่อนข้างมาก ขณะที่จีนมีการผลิตข้าวมากขึ้นและเริ่มปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้นำเข้าข้าวให้เป็นผู้ผลิตข้าวที่เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรและอาจส่งออกในอนาคต และอินเดียอาจประกาศยกเลิกการระงับการส่งออกข้าวขาว ทำให้ภาคเอกชนของอินเดียกลับมาส่งออกข้าวได้เสรีตามปกติ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนเป็นความท้าทายต่อการส่งออกข้าวไทย

นายรณรงค์ กล่าวว่า สำหรับแผนการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกข้าวไทย จะดำเนินการตามนโยบายของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ ในการส่งออกไปต่างประเทศ โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยในการทำงาน เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายการส่งออกข้าวที่ได้ตั้งไว้

โดยมีแผนงานสำคัญ ประกอบด้วยการจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ หรือ Thailand Rice Convention (TRC) 2024 ในเดือน พ.ค.2567 ซึ่งเป็นงานประชุมใหญ่ที่ผู้เชี่ยวชาญในวงการค้าข้าวโลกมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าวโลกและเจรจาธุรกิจระหว่างกัน รวมทั้งจะมีการจัดงาน TRC สัญจร ลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลแนวโน้มความต้องการข้าวในตลาดโลกแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวได้ตรงกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน มีแผนเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์และขยายตลาดข้าวกับแอฟริกาใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดข้าวที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของไทย รวมทั้งการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับรัฐบาลอินโดนีเซียและจีน และประเทศอื่นที่มีความประสงค์ขอซื้อข้าวในรูปแบบ G to G ตลอดจนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่สำคัญ และจัด Thai Rice Roadshow ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในตลาดจีนด้วย

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรับมือกับความท้าทายในการขายข้าวให้ประเทศคู่ค้าในประเด็นที่ราคาข้าวไทยสูงกว่าราคาข้าวของประเทศผู้ส่งออกรายอื่น อันเนื่องมาจากต้นทุนการผลิตที่สูง กรมจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร ผู้ส่งออก เร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก โดยพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่สูง ไม่ควรน้อยไปกว่าผลผลิตข้าวต่อไร่ของประเทศผู้ส่งออกอื่น ซึ่งปัจจุบันมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทยทั้งสิ้น ประกอบกับพันธุ์ข้าวต้องมีความต้านทานโรคและแมลง เพื่อลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยและการกำจัดแมลง เพราะหากไทยไม่มุ่งเน้นพัฒนาปรับปรุงในเรื่องดังกล่าว จะทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันทางการค้าข้าวในตลาดโลกในที่สุด