มารู้จัก..”แมลง”ที่เป็นศัตรู”กระท่อม” -วิธีป้องกันและกำจัด

“แมลง” ศัตรู “กระท่อม”สามารถจำแนกออกเป็นกลุ่ม ตามลักษณะการทำลาย ได้ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ด้วงปีกแข็ง แมลงศัตรูในกลุ่มนี้จัดเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของ “พืชกระท่อม” เมื่อระบาดแล้วก่อให้เกิดความเสียหายเป็นประจำ เช่น แมลงนูน และด้วงกุหลาบ เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 หนอนผีเสื้อ แมลงศัตรูกระท่อมในกลุ่มนี้ที่สำคัญ เช่น หนอนเจาะสมอฝ้าย และหนอนผีเสื้อกลางคืน เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 แมลงปากดูด แมลงศัตรูกระท่อมในกลุ่มนี้ที่สำคัญ เช่น เพลี้ยหอย และเพลี้ยอ่อน เป็นต้น

289449431 362950185984202 3385454681342371248 n
แมลงกำลังกัดกินใบกระท่อม

ด้วงกุหลาบ

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย- ด้วงกุหลาบ จะเข้าทำลาย “กระท่อม”ในระยะตัวเต็มวัย ส่วนในระยะตัวหนอนจะอาศัยและกินตามหน้าดินหรือมูลสัตว์ โดยจะออกหากินในเวลากลางคืน ส่วนในเวลากลางวันจะพบตามดินใกล้รากพืช ดังนั้นถ้าไปตรวจดูในเวลากลางวันจะพบแต่รอยทำลายเท่านั้น ด้วงกุหลาบเข้าทำลายกระท่อมโดยกัดกินใบทำให้ใบได้รับความเสียหาย ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ไข่-ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่ตามกองซากพืช กองมูลสัตว์ ปุ๋ยหมักต่าง ๆ โดยวางไข่เป็นกลุ่ม ๆ ละ 20-50 ฟอง ไข่มีลักษณะกลมรี เปลือกเรียบ สีขาวขุ่น ระยะไข่อายุประมาณ 6-9 วัน

หนอน-เมื่อฟักออกจากไข่จะกินอาหารตามหน้าดินหรือมูลสัตว์ ระยะตัวหนอนอายุประมาณ 52-95 วัน

ดักแด้-ตัวหนอนที่โตเต็มที่จะเข้าดักแด้ในดิน ระยะดักแด้อายุประมาณ 11-14 วัน

ตัวเต็มวัย-ตัวเต็มวัยมีลักษณะอ้วนป้อม ค่อนข้างแบน สีน้ำตาลอ่อน ตาสีดำ มีขนสั้นละเอียดปกคลุมทั่วร่าง ลำตัวยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ระยะตัวเต็มวัยอายุประมาณ 18-28 วัน

พืชอาหาร-ด้วงกุหลาบสามารถเข้าทำลายพืชได้หลายชนิด เช่น กุหลาบ ข้าวโพด มันสำปะหลัง กาแฟ กล้วย อ้อย องุ่น มะพร้าว ขนุน เงาะ ชมพู่ เป็นต้น

การป้องกันกำจัด

  1. ทำลายกองหญ้าหรือมูลสัตว์ ที่เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์
  2. สำรวจและเก็บตัวเต็มวัยของด้วงกุหลาบที่ออกหากินในเวลากลางคืนมาทำลาย
  3. ใช้กับดักแสงไฟล่อตัวเต็มวัยเพื่อทำลาย
  4. ในช่วงที่มีการระบาดรุนแรงใช้สารกำจัดแมลง เช่น คาร์บาริล 85% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นช่วงเย็น ทุก 7 วัน หรือเท่าที่จำเป็น

แมลงนูนและแมลงนูนหลวง

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย-แมลงนูนและแมลงนูนหลวง จะระบาดมากในช่วงต้นฤดูฝนประมาณ 2-3 เดือน ในเวลากลางคืน โดยกัดกินใบทำให้ใบได้รับความเสียหาย ทำให้ผลผลิตไม่สมบูรณ์ หรือถ้าระบาดรุนแรงจะไม่สามารถเก็บผลผลิตได้

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ-เป็นแมลงปีกแข็ง จะเข้าทำลายกระท่อมในระยะที่เป็นตัวเต็มวัย

การป้องกันกำจัด- นิยมเก็บมาเป็นอาหารรับประทานได้ ซึ่งเป็นการลดจำนวนประชากรของแมลงนูนหลวงได้เป็นอย่างดี

หนอนเจาะกระทู้ผัก

ความสำคัญและลักษณะการทำลายผีเสื้อหนอนกระทู้ผัก เป็นผีเสื้อกลางคืน เข้าทำลายกระท่อมในระยะตัวหนอน โดยเข้ากัดกินส่วนของใบทำให้ใบได้รับความเสียหาย เสียคุณภาพ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ไข่-ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เป็นกลุ่ม บนใบพืช ระยะไข่อายุประมาณ 2-3 วัน

หนอน-ระยะหนอนมี 5 วัย ระยะหนอนจะสังเกตแถบสีดำที่ปล้องอกที่3 ได้ชัดเจน ลำตัวจะเปลี่ยนจากสีเขียวอ่อน เกิดลายเส้นหรือจุดสีดำและผิวลำตัวมีขีดดำพาดตามยาว หนอนที่เจริญเติบโตเต็มที่มีลำตัวอ้วนป้อมยาว ระยะหนอนอายุประมาณ 15-21 วัน

ดักแด้-ตัวหนอนที่โตเต็มที่จะเข้าดักแด้ ในดิน ระยะดักแด้อายุประมาณ 12 วัน

ตัวเต็มวัย-ตัวเต็มวัยปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาลเข้มมีลวดลายเต็มปีก คู่หลังสีขาวบาง ลำตัวมีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม ตัวเต็มวัยอายุประมาณ 5-10 วัน

พืชอาหาร-พืชผัก ไม้ผล ไม้ดอก และพืชไร่หลายชนิด เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา พริก มะเขือ กระเจี๊ยบเขียว ส้มเขียวหวาน มะม่วงหิมพานต์ ถั่วเขียว ข้าวโพด ยาสูบ ฝ้าย เป็นต้น

ศัตรูธรรมชาติ- แตนเบียนหนอน แมลงวันเบียน และมวนพิฆาต

การป้องกันกำจัด

1.การใช้วิธีเขตกรรม จัดการในแปลงปลูก เช่น ไถพรวนดินตากแดด เพื่อกำจัด “ดักแด้”ที่อยู่ในดิน ทำลายซากพืชอาหาร เพื่อลดแหล่งขยายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง

2.การใช้ชีวภัณฑ์

เชื้อแบคทีเรียบีที หรือ บาซิลลัส ทูริงเยนซิส 40-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร, 60-100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 3-5 วัน เมื่อพบการระบาดแต่ถ้ามีการระบาดรุนแรงให้พ่นติดต่อกัน 2 ครั้ง หลังจากนั้นพ่นทุก 5 วัน จนกระทั่งหนอนลดปริมาณการระบาด

-เชื้อไวรัสเอ็นพีวี (NPV) หนอนกระทู้ผัก อัตรา 40-50มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบหนอนระบาดทุก 5-7 วัน กรณีหนอนระบาดรุนแรงพ่นอัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรติดต่อกัน 2 ครั้ง ทุก 4 วัน

หมายเหตุ การใช้ชีวภัณฑ์ เป็นการอ้างอิงอัตราชีวภัณฑ์ในพืชตระกูลกะหล่ำ และควรพ่นเมื่อหนอนมีขนาดเล็ก มีการระบาดน้อยจะให้ผลในการควบคุมได้รวดเร็ว

3.การใช้สารกำจัดแมลง เช่น คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อินดอกซาคาร์บ 15% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 6 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบการระบาด ไม่ควรพ่นสารฆ่าแมลงประเภทใดประเภทหนึ่งติดต่อกันหลายครั้ง เพราะจะทำให้แมลงสร้างความต้านทาน และควรงดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 7 วัน

เพลี้ยหอย

ความสำคัญและลักษณะการทำลายเพลี้ยหอย เข้าทำลายกระท่อมโดยดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนของใบ ทำให้ใบกระท่อมมีตำหนิเป็นจุดสีเหลือง ไม่สวยงาม มีผลกระทบต่อราคาของผลผลิต ถ้ามีการระบาดรุนแรง จะไม่สามารถนำใบมาบริโภคได้บริเวณที่ถูกทำลายอาจมีลักษณะผิดปกติ เช่น ใบเหลือง หงิกงอ

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ-เพลี้ยหอยมีลักษณะปากแบบเจาะดูด มีการเจริญเติบโตแบบเปลี่ยนแปลงรูปร่างทีละน้อย สามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศ และไม่อาศัยเพศ

ไข่-เพลี้ยหอยบางชนิดจะออกลูกเป็นไข่ โดยไข่จะอยู่ในถุงหุ้มบางชนิดจะวางไข่อยู่ใต้ท้องของตัวแม่ และบางชนิดไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนในตัวแม่

ตัวอ่อน-มี 3 ระยะ ตัวอ่อนแต่ละระยะมีรูปร่างลักษณะเหมือนกันแตกต่างกันที่ขนาดลำตัว

ตัวเต็มวัย-มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับตัวอ่อน ต่างกันที่ตัวอ่อนมีอวัยวะบางส่วนยังไม่เจริญเต็มที่

การป้องกันกำจัด

  1. วิธีเขตกรรม ตัดกิ่งหรือใบ ที่มีเพลี้ยหอย ทำลายทิ้งเพื่อลดการระบาดในแมลง
  2. กำจัดมด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
  3. พ่นสารปิโตรเลียมออยล์ 83.9% EC อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
  4. การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง สามารถใช้ได้หลายกลุ่ม เช่น
    กลุ่ม 1 พิริมิฟอสเมทิล โพรไทโอฟอส มาลาไทออน ไดอะซินอน
    กลุ่ม 4 ไทอะมีทอกแซม อิมิดาโคลพริด อะเซตทามิพริด โคลไทอะนิดิน
    (ควรผสมไวท์ออยล์20-50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร)
    กลุ่ม 16 บูโพรเฟซีน (สำหรับกำจัดระยะตัวอ่อน)

เพลี้ยอ่อน ความสำคัญและลักษณะการทำลาย-เพลี้ยอ่อนเป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก ลำตัวอ่อนนุ่ม เคลื่อนไหวช้า ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่บริเวณใต้ใบกระท่อม

ขณะที่ดูดกินน้ำเลี้ยงเพลี้ยอ่อนจะปล่อยน้ำลายเข้าไปในใบ ทำให้เซลล์พืชบริเวณที่ถูกทำลายมีลักษณะผิดปกติ เกิดอาการใบเหลือง ใบย่น แห้งและร่วงในที่สุด ถ้าถูกทำลายรุนแรงอาจทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต

นอกจากนี้ เพลี้ยอ่อน ยังขับถ่ายมูลน้ำหวานออกมา ซึ่งเป็นอาหารของมด และราดำ ทำให้เกิดราดำที่ใบซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของตลาด พบระบาดได้ทั่วไปโดยเฉพาะในช่วงอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติเพลี้ยอ่อนเป็นแมลงศัตรูขนาดเล็ก มีการเจริญเติบโตแบบเปลี่ยนแปลงรูปร่างทีละน้อย ขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ตัวอ่อนมีลักษณะเหมือนตัวเต็มวัยแต่มีขนาดเล็กกว่า ตัวเต็มวัยมีรูปร่างกลม ส่วนหัวและอกมีขนาดเล็ก ส่วนท้องโต มีทั้งแบบมีปีกและไม่มีปีก

ตัวอ่อน-มีอายุประมาณ 4-6 วัน มีการลอกคราบ 4 ครั้ง

ตัวเต็มวัย-มีอายุประมาณ 5-29 วัน

ศัตรูธรรมชาติ-แมลงช้างปีกใส ด้วงเต่าลาย แมลงวันตัวห้ำ และหนอนของแมลงวันผลไม้ แมลงเบียน

การป้องกันกำจัด

พ่นสารปิโตรเลียมออยล์ 83.9% EC อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ส่วนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง ใช้ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร เริ่มพ่นเมื่อพบการระบาดของเพลี้ยอ่อน พ่นห่างกัน 7-10 วัน และงดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 14 วัน

หนอนผีเสื้อกลางคืนชนิดอื่น ๆ

จะเข้าทำลายใบกระท่อมโดยม้วนใบกระท่อม และกัดกินบริเวณผิวใบ แต่ความเสียหายที่เกิดจากการเข้าทำลายของหนอนผีเสื้อน้อยกว่าการทำลายของแมลงในกลุ่มด้วง เพราะชาวบ้านจะหมั่นสังเกตใบที่ต้องเก็บมาเคี้ยวเกือบทุกวัน ถ้าพบก็ทำการเก็บใบทำลาย ซึ่งเป็นการป้องกันกำจัดที่ดี กรณีเกิดการระบาดรุนแรง สามารถใช้สารเคมีชนิดเดียวกับที่ใช้ป้องกันกำจัดหนอนกระทู่ผักได้

แนวทางการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูกระท่อมโดยการใช้ชีวภัณฑ์

1. การใช้ตัวห้ำหรือแมลงห้ำ (Predators) คือ สัตว์หรือแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งที่กินสัตว์หรือแมลงอื่นหรือที่ เรียกว่า “เหยื่อ (Prey)” เป็นอาหาร โดยทั่วไปตัวห้ำจะมีขนาดใหญ่และเข็งแรงกว่าเหยื่อ และจะทำให้เหยื่อตายในเวลารวดเร็ว ตัวห้ำ 1 ตัว สามารถกินเหยื่อได้หลายตัวและหลายชนิด อีกทั้งยังสามารถกินเหยื่อได้ทุกระยะการเจริญเติบโตตั้งแต่ไข่ ตัวอ่อน หรือหนอน ดักแด้และตัวเต็มวัย เช่น ด้วงเต่าลายหยัก ด้วงเต่าสีส้ม แมลงช้างปีกใส มวนพิฆาต มวนเพชฌฆาต เป็นต้น

2. การใช้ตัวเบียนหรือแมลงเบียน (Parasites หรือ Parasitoids) คือ สัตว์หรือแมลงขนาดเล็ก ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการเกาะกินหรืออยู่บนแมลงอาศัย (Hosts) ชนิดอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่า ทำให้สัตว์หรือแมลงอาศัยนั้นอ่อนแอและตายในที่สุด ตัวเบียนจะสามารถเข้าทำลายและเจริญเติบโตได้ในทุกระยะของสัตว์หรือแมลงอาศัย คือ ทั้งไข่ ตัวอ่อนหรือ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ตัวเบียน 1 ตัว ต้องการสัตว์หรือแมลง อาศัยเพียงตัวเดียวในการเจริญเติบโตจนครบวงจรชีวิตของมัน (ตั้งแต่ระยะไข่ จนถึงตัวเต็มวัย) และเฉพาะตัวเบียนเพศเมียเท่านั้นจะทำลายสัตว์หรือแมลงอาศัยโดยการใช้อวัยวะวางไข่ (Ovipositor) ของมันแทงลงในหรือบนตัวสัตว์หรือแมลงอาศัยตัวเบียนที่พบ เช่น แตนเบียนไข่อนาสตาตัส แตนเบียนไข่ทริคโคแกรมม่า แตนเบียน หนอนโคทีเซีย แตนเบียนหนอนอะแพนทีเลส

3. การใช้เชื้อโรค (Pathogens) คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิตอยู่และเจริญเติบโตบนสัตว์หรือแมลงอาศัย ทำให้สัตว์หรือ แมลงอาศัยนั้นเป็นโรคและตายในที่สุด จุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ไส้เดือนฝอยและโปรโตซัว ในธรรมชาติศัตรูพืช (แมลงศัตรูพืช สัตว์ ศัตรูพืช โรคพืช และวัชพืช) จะถูกจุลินทรีย์ต่าง ๆ ทำลายอยู่เสมอ จุลินทรีย์จึงเป็นศัตรูธรรมชาติที่สำคัญในการควบคุม ประชากรของศัตรูพืชให้อยู่ในระดับต่ำ

3.1) เชื้อไวรัส ชนิด Nuclear Polyhedrosis Virus หรือที่เรียกย่อว่า NPV เป็นไวรัสที่มีความเฉพาะเจาะจงสูงมากทำลายเฉพาะแมลงเป้าหมาย เช่น เชื้อไวรัส NPV ของหนอนกระทู้หอม ก็จะทำลายเฉพาะหนอนกระทู้หอม เชื้อไวรัส NPV ของหนอนเจาะสมอฝ้าย ก็จะทำลายเฉพาะหนอนเจาะสมอฝ้าย ไม่ทำลายแมลงชนิดอื่น จึงปลอดภัยต่อแมลงศัตรูธรรมชาติชนิดอื่น ๆ

ข้อดีของเชื้อไวรัส NPV คือ สามารถเพิ่มจำนวนในแมลงที่มันทำลายได้เป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว และทำให้แมลงตายได้ สามารถแพร่ระบาดออกไป หรือถ่ายทอดไปกับแม่ผีเสื้อโดยติดไปกับไข่จนเกิดการระบาดในรุ่นลูก และที่สำคัญคือ ไวรัส NPV สามารถสร้างผลึกโปรตีนห่อหุ้มอนุภาคเชื้อไวรัสเอาไว้ทำให้อยู่คงทนในสภาพแวดล้อมตัวแมลงได้ดี ลักษณะอาการเมื่อแมลงได้รับเชื้อไวรัสเข้าไป ตัวหนอนจะเคลื่อนไหวช้าลง กินอาหารน้อยลง ลำตัวเริ่มเปลี่ยนสีหนอนจะพยายามไต่ขึ้นส่วนยอดของพืชและเกาะอยู่นิ่ง ๆ หยุดกินอาหาร และจะตายในลักษณะ ห้อยหัวและส่วนท้องลงเป็นรูปตัววีหัวกลับหลัง จากนั้นผนังลำตัวจะแตกออก ผลึกโปรตีนที่ห่อหุ้มไวรัสจะแพร่กระจายออกและแพร่ขยายออกไปได้โดยลม น้ำ และแมลงทำให้เกิดการระบาดของโรคได้

3.2) การใช้เชื้อแบคทีเรียควบคุมศัตรูพืช (Bacterial Biopesticide) (Bactericide) แบคทีเรียเป็น จุลินทรีย์ที่มีอยู่ทั่วไปในดินและพืช มีทั้งชนิดที่เป็นประโยชน์และชนิดที่ทำให้เกิดโทษ แบคทีเรียที่นำมาใช้ควบคุมศัตรูพืชนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในสกุลบาซิลลัส (Bacillus) เช่น บาซิลลัส ทูริงเจนซิส (Bacillus thuringiensis หรือ BT) ซึ่งมีข้อดี คือเป็นแบคทีเรียที่มีความเฉพาะเจาะจงสูงต่อแมลงเป้าหมาย เช่น หนอนกระทู้หอม หนอนคืบ หนอนใยผัก หนอนเจาะสมอฝ้าย ปลอดภัยต่อแมลงศัตรูธรรมชาติและแมลงที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ ลักษณะการทำลายแมลง คือ แมลงจะต้องกินเชื้อแบคทีเรียเข้าไปสู่กระเพาะและผนังเซลล์ เกิดสารพิษทำให้แมลงหยุดชะงักการกินอาหาร เคลื่อนไหวช้าลง เกิดอาการบวมแตกและแมลงตายในที่สุด

3.3) การใช้เชื้อราควบคุมศัตรูพืช (Fungal Peslicide) (Fungicide) ได้แก่ การใช้เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อราเมตาไรเซียม ควบคุม เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง หนอนผีเสื้อ

3.4) การใช้ไส้เดือนฝอยศัตรูธรรมชาติ ควบคุมศัตรูพืช มี 2 กลุ่ม ที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช คือ สไตน์เนอร์นีม่า (Steinernema) และเฮทเทอโรแรบดิทิส (Heterorhabditis) ชนิดที่มีจำหน่ายเป็นการค้าและใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ Steinernema carpocapsae เพราะสามารถเข้าทำลายแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด โดยไส้เดือนฝอยก็จะขับถ่ายแบคทีเรียชนิดหนึ่งซึ่งเป็นพิษต่อแมลงออกมา ทำให้แมลงตายภายใน 24 – 48 ชั่วโมง

4. การใช้สารธรรมชาติจากพืชควบคุมศัตรูพืช พืชสมุนไพรหลายชนิดที่นำมาควบคุมศัตรูพืช และมีการใช้กันมานาน ในรูปแบบการบดหรือตำแล้วนำมาฉีดพ่น เช่น สะเดา ข่า ขมิ้นชัน โลติ้น สาบเสือ หนอนตายอยาก ซึ่งจะใช้เป็นสารไล่ ยับยั้งการเจริญเติบโตของแมลงได้ สำหรับสะเดา เป็นพืชที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากที่สุด ใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชในแต่ละชนิดต่างกัน ใช้ได้ผลดีกับหนอนผีเสื้อกลางคืน ใช้ได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผล กับ ด้วงปีกแข็งกัดกินใบ