สศก.ลงพื้นที่กำแพงเพชร แหล่งผลิต มันฯ อันดับ 2 ประเทศ ระบุ ปีนี้ราคาดี เป็นที่ต้องการตลาด

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตมันสำปะหลังของไทย พบว่า ฤดูการผลิตปี 2564/65 (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2565) มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว รวมทั้งประเทศ 10.18 ล้านไร่ ผลผลิต 34.69 ล้านตัน โดยเนื้อที่เก็บเกี่ยวและผลผลิต ลดลงจากปี 2563/64 ที่มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 10.41 ล้านไร่ ผลผลิต 35.09 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 2.21 และร้อยละ 1.14 ตามลำดับ

เนื่องจากเนื้อที่เพาะปลูกมันสำปะหลังประสบอุทกภัยในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม 2564 ทำให้หัวมันเน่าเสียหาย ส่งผลให้เนื้อที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตลดลง ขณะที่ ผลผลิตต่อไร่ 3.41 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 3.37 ตัน ในปี 2563/64 หรือร้อยละ 1.19 เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้รับอุทกภัยได้รับน้ำฝนเพียงพอในช่วง “มันสำปะหลัง” เริ่มลงหัวและสะสมอาหารซึ่งดีกว่าช่วงต้นปี 2563 ที่ประสบภัยแล้ง

292445253 346549927651350 2462065183650289238 n
มันฯราคาดี

ในการนี้ สศก. ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาด “สินค้ามันสำปะหลัง”ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นจังหวัดแหล่งผลิตอันดับ 2 ของประเทศ รองจากนครราชสีมา โดยการลงพื้นที่ อ.ไทรงาม อำเภอขาณุวรลักษบุรี และอำเภอคลองลาน ระหว่างวันที่ 22 – 24 มิถุนายน 2565 พบว่า ฤดูการผลิตปี 2564/65 จังหวัดกำแพงเพชรมีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 0.76 ล้านไร่ (ร้อยละ 7.45 ของเนื้อที่เก็บเกี่ยวมันสำปะหลังทั้งประเทศ) และผลผลิต 2.54 ล้านตัน (ร้อยละ 7.31 ของผลผลิตมันสำปะหลังทั้งประเทศ)

เกษตรกรจังหวัดกำแพงเพชร นิยมปลูกมันสำปะหลัง พันธุ์ห้วยบง 90 , ระยอง 9 และระยอง 15 เนื่องจากมีเปอร์เซนต์เชื้อแป้งสูง และให้ผลผลิตต่อไร่สูง เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังเมื่ออายุครบ 8 – 12 เดือน ซึ่งให้เชื้อแป้งเฉลี่ย 25 – 30% ทั้งนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ในจังหวัด จะขายหัวมันสดที่ลานมันใกล้แปลงปลูก โดยราคารับซื้อหัวมันสำปะหลังคละราคา ณ เดือนมิถุนายน 2565 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.50 – 2.70 บาท

ส่วนราคาหัวมันสำปะหลังเชื้อแป้ง 30% เฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 3.00 – 3.10 บาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่แบบคละเฉลี่ยกิโลกรัมละ1.45– 1.50 บาทและเชื้อแป้ง 30% เฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.05 – 2.75 บาทเนื่องจากมันสำปะหลังไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะจีนนำไปผลิตเป็นเอทานอล สำหรับลานมันเมื่อรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรแล้ว จะนำหัวมันสำปะหลังไปแปรรูปเป็นมันเส้นหรือนำไปส่งโรงงานแป้งมันสำปะหลังที่อยู่ภายในจังหวัดกำแพงเพชร นอกจากนี้ กำแพงเพชรยังเป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตมันสำปะหลังจากจังหวัดต่างๆ ของภาคเหนือ เช่น จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ตาก สุโขทัย และลำปาง เป็นต้น

“จากสถานการณ์ราคาปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย และน้ำมัน ปรับตัวสูงขึ้นนั้น ทำให้ต้นทุนการปลูกมันสำปะหลังสูงขึ้นไปด้วย ดังนั้น เกษตรกรควรติดตามสถานการณ์สภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนการผลิตได้อย่างเหมาะสม โดยใช้พันธุ์ดี ต้านทานโรค และ % เชื้อแป้งสูง เช่น พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60 ระยอง 72 รวมทั้งพันธุ์อื่นๆ ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการ ให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ ส่วนเกษตรกรที่มีแหล่งน้ำ แนะนำให้ใช้ระบบน้ำหยดเพื่อให้แปลงปลูกมันสำปะหลังได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งหากขาดน้ำในช่วงเวลาดังกล่าวอาจทำให้ผลผลิตลดลง และที่สำคัญ เกษตรกรควรเก็บหัวมันสดในช่วง 8 – 12 เดือน หลังการเพาะปลูก และให้มีสิ่งเจือปนเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรขายหัวมันสดได้ในราคาที่สูงขึ้น” เลขาธิการ สศก. กล่าว

ด้านนางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า ในการลงพื้นที่ของ สศก. โดยทีมสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตรครั้งนี้ พบว่า ขณะนี้เกษตรกรในจังหวัดกำแพงเพชรส่วนใหญ่ได้เพาะปลูก“มันสำปะหลัง” ฤดูการผลิตปี 2565/66 แล้ว โดยเพาะปลูกในฤดูฝนช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายนที่ผ่านมา และจะเก็บเกี่ยวในฤดูแล้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2566 พร้อมกันนี้ได้ติดตามการดำเนินงานของสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ คือ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาด (สกต.) ลูกค้า ธกส. จังหวัดกำแพงเพชร

โดยพบว่า สกต. ทำหน้าที่รวบรวม “มันสำปะหลัง” ในพื้นที่ เช่น อำเภอโกสัมพีนคร อำเภอคลองลาน และ อำเภอขาณุวรลักษบุรี ซึ่งจะมีการรับซื้อมันเส้นจากเกษตรกรและให้ราคาสูงกว่าราคาตลาดกิโลกรัมละ 0.50 บาท สำหรับเกษตรกรที่นำหัวมันสดมาขายสามารถเลือกได้ว่าจะวัดเปอร์เซ็นต์แป้ง หรือขายเป็นมันคละ ทั้งนี้ สกต. ยังได้เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย เป็นต้น โดยในปีนี้ สกต. จำหน่ายมันเส้นสะอาดให้กับสหกรณ์โคนมและผู้ประกอบการ ส่วนในปี 2566 มีแผนดำเนินการจำหน่ายมันเส้นสะอาด จำนวน 20,000 ตัน โดยขยายเครือข่ายการผลิตไปยัง สกต. จังหวัดใกล้เคียง

รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า สำหรับเกษตรกรที่ต้องการเงินทุนสนับสนุน สามารถเข้าร่วมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลังได้ โดย ธ.ก.ส. จะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาการผลิตของเกษตรกร ให้ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม วงเงินกู้รายละไม่เกิน 230,000 บาท คิดดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการฯ ในอัตรา ร้อยละ 6.50 ต่อปี คิดดอกเบี้ยจากเกษตรกรผู้กู้ในอัตราร้อยละ 3.50 ต่อปี และรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 24 เดือน

นอกจากนี้ ภาครัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังให้หลากหลายมากขึ้น เช่น แป้งฟลาวมันสำปะหลัง ซึ่งอยู่ในกระแสอาหารเพื่อสุขภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรเก็บเกี่ยววัสดุเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวหัวมันสำปะหลัง เช่น ใบ นำไปผลิตสินค้าประเภทต่าง ๆ นอกเหนือจากการขายหัวมันสำปะหลังสด เช่น อาหารสัตว์จากใบมันสำปะหลังอัดเม็ด เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง