กยท. ครบ 7 ปี ชูแนวคิด “Greener Better” มุ่ง บริหารยางพาราเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

วันนี้ (15 ก.ค. 2565) กยท. จัดกิจกรรมวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบปีที่ 7 ภายใต้แนวคิด “Greener Better” สร้างความแข็งแกร่งให้ยางพาราไทย หนุนชาวสวนยางให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นตั้งเป้าใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนภาคเกษตร พร้อมเปิดแผนการบริหารยางพาราอย่างยั่งยืน เชื่อมมิติเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม

นายกุลเดช พัวพัฒนกุล ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า7 ปีที่ผ่านมา กยท. เป็นองค์กรกลางที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ เน้นทำงานแบบบูรณาการร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร ทั้งชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ตลอดจนภาคการศึกษา

ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา กยท. มีผลงานเป็นที่ประจักษ์หลายโครงการและที่เด่นชัดคงเป็นโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางที่ทำต่อเนื่องมาตลอด 3 ปี เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยางในช่วงภาวะวิกฤติโควิดตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โครงการชะลอยาง ช่วยให้ชาวสวนยางสามารถเก็บผลผลิตและขายในช่วงที่ราคาเหมาะสม เป็นการชะลอการขายยางในช่วงที่ราคายางปรับตัวลงได้

293688555 3477695022489559 3775701264748552129 n
กยท. ครบรอบ 7 ปี ชูแนวคิด “Greener Better”

รวมถึงการเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ทั้งชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง พร้อมผลักดันให้เกิดความมั่นคงในอาชีพการทำสวนยางระยะยาว เช่น ส่งเสริมพัฒนาอาชีพเสริม ตามความต้องการของตลาด สนับสนุนการปลูกยางแบบสวนยางยั่งยืน

“กยท. สามารถปลดล็อกความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิประโยชน์ของชาวสวนยางให้ทั่วถึงเท่าเทียมกัน โดยการจัดสวัสดิการให้พี่น้องชาวสวนยาง ถือเป็นเกษตรกรเพียงกลุ่มเดียวของประเทศไทยที่ได้รับสิทธิสวัสดิการ สิ่งนี้คือผลงานสำคัญของ กยท. ที่จะเป็นต้นแบบให้หน่วยงานอื่นได้ศึกษา เพื่อจัดทำให้เกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ต่อไปในอนาคต” ประธานกรรมการ กยท. กล่าว

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น กยท. จึงกำหนดแนวทาง ‘Greener Better’ ด้วยการสร้างนวัตกรรมทั้งผลิตภัณฑ์และสังคม ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม

โดยผลักดันโครงการบริหารจัดการ Carbon credit ในสวนยาง เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ เนื่องจากยางพาราสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 4.22 ตันต่อไร่ ถือเป็นโมเดลสำคัญให้กับพืชอื่นในการบริหารจัดการเรื่อง Carbon credit ต่อไป

กยท. ยังเร่งขับเคลื่อนโครงการนวัตกรรมทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดจนห่วงโซ่ยางพาราเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ได้แก่นวัตกรรม“มาตรฐานยางเครปบางสีน้ำตาลเกรดพรีเมียม” โดยใช้กรดอินทรีย์ที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม ทำให้ก้อนยางไม่ก่อมลพิษกลิ่นและน้ำเสีย

ส่วนผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ได้แก่ หุ่นจำลองสำหรับฝึกเจาะหาก้อนเนื้อที่ผิดปกติในขาผู้ป่วย, หุ่น CPR (หุ่นฝึกช่วยชีวิต) ซึ่ง กยท. ได้แจกหุ่น CPR ให้หน่วยงานทางการแพทย์ สาธารณสุข หน่วยกู้ชีพและสถานศึกษา รวมจำนวน 80 ตัว ในโอกาสครบรอบวันสถาปนา กยท. ครบ 7 ปีด้วย

ผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ก้าวต่อไปของ กยท. คือขับเคลื่อน อุตสาหกรรมยาง ให้สามารถเพิ่มมูลค่า แข่งขันได้ สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจฐานราก ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ ในการขับเคลื่อนและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมยางในแต่ละพื้นที่ เพื่อยกระดับ Welfare economy ของคนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานยางพารา

และในโอกาสครบรอบ 7 ปี วันสถาปนาการยางแห่งประเทศไทย จึงได้ประกาศแผนการบริหารยางพาราอย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้วยการทำสวนยางให้เกิดความคุ้มค่า ปฏิบัติตามหลักวิชาการ เช่น ปลูกดูแลรักษา กรีดยาง เก็บผลผลิต โค่น รวมถึงขนส่งอย่างถูกวิธี ด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ อนุรักษ์แหล่งที่อยู่ของพืชและสัตว์ ควบคุมการใช้สารเคมี สร้างระบบการจัดการขยะที่ดีและด้านสังคม ด้วยการไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชน เพิ่มคุณภาพชีวิต ดูแลและคุ้มครองความปลอดภัยของแรงงาน และมีการจ้างงานตามกฎหมายให้ค่าจ้างเป็นธรรม “ทั้งหมดเพื่อสร้างความยั่งยืนให้อุตสาหกรรมยางพาราของไทย และเพื่อพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย”

ภายในงานนี้ กยท. ได้มอบรางวัลสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2564/2565 เพื่อสนับสนุน และสร้างความภาคภูมิใจ และเป็นแรงผลักดันให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีการพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยคัดเลือกสถาบันเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความโดดเด่น ในการบริหารจัดการที่ประสบความสำเร็จในทุกมิติ รวมถึงรางวัลสมาชิกเกษตรกรชาวสวนยางพาราต้นแบบ ที่คัดเลือกจากความเป็นผู้นำ และสามารถเป็นต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านยางพาราให้แก่บุคคลทั่วไปได้ รวมจำนวน 15 รางวัล