ฝนฟ้าคะนอง เตือน 2 หนอนบุกสวนเงาะ

สวนเงาะในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่เช่นนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกเงาะให้เฝ้าระวัง 2 แมลงศัตรูพืช คือ หนอนคืบกินใบ และหนอนร่านกินใบ สามารถพบได้ในระยะที่เงาะเตรียมความพร้อมในการออกดอกและในระยะแตกใบอ่อน เกษตรกรควรสังเกตหนอนคืบกินใบ มักพบหนอนกัดกินใบเพสลาด ใบอ่อน และใบแก่ ส่งผลให้การปรุงอาหารของใบไม่เพียงพอ และไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้

aac927b362cc1709d474e49adb22a107 full 1
หนอนคืบกินใบ

หนอนคืบกินใบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oxyodes scrobiculata Fabricius ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน สีน้ำตาลอ่อน ลำตัวมีขนสีเหลืองปกคลุม ตัวเต็มวัย เพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ ตามใบอ่อน ยอดอ่อนไข่มีลักษณะกลม สีขาวนวล ไม่มีสิ่งปกคลุม ระยะไข่ 3-5 วัน หนอนที่ฟักออกมาไข่ใหม่ ๆ มีสีเขียวอ่อนและมีแถบสีน้ำตาลข้างลำตัว เริ่มกัดกินใบเงาะทันที

เมื่อหนอนโตขึ้นจะมีสีต่าง ๆ สีน้ำตาล สีเขียวอ่อน สีเหลืองปนน้ำตาล เคลื่อนไหวได้รวดเร็ว เมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร อายุหนอน 4-17 วัน แล้วจะเข้าดักแด้โดยชักใยนำใบมาห่อหุ้มตัว ระยะดักแด้ 10-12 วัน ตัวเต็มวัยมักหลบซ่อนตามต้นหญ้า และวัชพืชอื่น ๆ ในบริเวณสวน

หนอนคืบกินใบ สามารถทำความเสียหายให้กีบพืชได้มากในระยะแตกใบอ่อน โดยตัวหนอนที่ออกจากไข่จะเริ่มกัดกินใบอ่อน และเมื่อตัวหนอนโตขึ้นจะกินทั้งใบอ่อน ใบเพสลาด และใบแก่

หากพบหนอนคืบกินใบ ในกรณีที่โคนต้นเงาะโล่งเตียนไม่มีหญ้ารก ให้เกษตรกรเขย่ากิ่งเงาะเพื่อให้ตัวหนอนคืบกินใบทิ้งตัวลงสู่พื้นดิน จากนั้นให้จับตัวหนอนคืบกินใบไปทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก สำหรับในระยะที่ต้นเงาะแตกใบอ่อน ถ้าพบหนอนคืบกินใบ ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

aac927b362cc1709d474e49adb22a107 full
หนอนร่านกินใบ

ในส่วนของหนอนร่านกินใบ จะพบลักษณะการเข้าทำลายของหนอนร่านกินใบเมื่อฟักออกจากไข่จะแทะกินผิวใบ ทำให้ใบแห้งและร่วงหล่น โดยหนอนจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ต่อมาหนอนโตขึ้นจะแยกกระจายไปทำลายกัดกินตามใบแก่ กรณีที่พบหนอนร่านกินใบระบาดในระยะที่ต้นเงาะกำลังออกดอก จะส่งผลให้เกิดความเสียหายมาก เพราะต้นเงาะที่ถูกหนอนร่านกินใบเข้าทำลายจะติดผลขนาดเล็กและด้อยคุณภาพ

สำหรับในระยะที่หนอนร่านกินใบยังเล็กจะอยู่รวมกันกัดแทะผิวใบ ส่งผลทำให้ใบเงาะแห้ง ให้เกษตรกรหมั่นสำรวจตรวจดูภายในสวนอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นเงาะมีใบแห้งหรือมีรอยทำลายของหนอนร่านกินใบ ให้เกษตรกรเก็บและนำใบเงาะที่มีรอยทำลายไปกำจัดเผาทิ้งนอกสวนทันที ถ้าพบหนอนร่านกินใบระบาดมาก ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร