นายชลธี นุ่มหนู่ ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) พร้อมเจ้าหน้าที่เล็บเหยี่ยว พิทักษ์ทุเรียนไทย เข้าตรวจสอบทุเรียนหมอนทอง ในล้งส่งออกไปจีน เขตพื้นที่ จ.จันทบุรี พบทุเรียนตัดมาจากจังหวัดข้างเคียงกับ จ.จันทบุรี จึงสุ่มตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้ง พบบางลูกไม่ผ่านเกณฑ์ บางลูกผ่านเกณฑ์ คือร้อยละ 32 จึงมอบให้ทางล้ง ทำการคัดแยกทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพ(อ่อน) ออกมา และทำการสุ่มตรวจอีกครั้ง ก่อนจะผ่านเกณฑ์ที่ยอมรับได้ จึงแจ้งให้ผู้ประกอบการระมัดระวัง เรื่องการซื้อทุเรียนในขณะนี้ เพราะจากการสำรวจและตรวจสอบ พบว่า มีทุเรียนที่ตัดมาแบบตึงมือ (ทุเรียนที่กำลังจะสุก-ไม่สุก) ถูกนำส่งเข้าโรงคัดบรรจุ(ล้ง) จำนวนมาก
ผอ.สวพ.6 บอกว่า แจ้งผู้ประกอบการให้ทราบเรื่องการรับซื้อทุเรียนตึงมือ ต้องระมัดระวัง เพราะหากเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและพบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ ก็ไม่สามารถออกใบกำกับได้ เพราะหากมีทุเรียนอ่อนหลุดออกไปยังประเทศปลายทางเกินกว่าในมาตรฐานอาจทำให้คำสั่งซื้อผลไม้(ทุเรียน) จากไทยต้องหยุดลง ที่สำคัญช่วงนี้การตัดทุเรียนมักจะเป็นการตัดแบบรูด เนื่องจากสัญญาที่ทำเหมาสวนระหว่างล้ง(บางแห่ง) และชาวสวนกำลังจะหมดลง คือ ต้องตัดให้หมดภายในวันที่ 10 เมษายน นี้ จึงทำให้มือตัดบางคนใช้วิธีการตัดรูด
น.ส.ชุติมา ธุระพันธ์ หรือเจ๊แหม่ม ผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ใน จ.จันทบุรี บอกว่า สาเหตุที่ทุเรียนราคาลดลงขณะนี้มาจากปัจจัยที่ตลาดปลายทาง เพราะมีการตรวจพบโควิด-19 ในพื้นที่และมีการปิดเมือง อย่าง กว่างโจว และเซียงไฮ้ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ จึงทำให้สินค้าเข้าไปได้ยาก ขณะเดียวกันการขนส่งที่ต้องใช้ระยะเวลานาน ก็มีส่วนที่ทำให้สินค้าไปถึงช้า และระบายสินค้าได้ช้า บางเมืองปิด การขนส่งต้องขับรถอ้อมเส้นทาง ทำให้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นไปอีก จึงอยากให้รัฐบาล ตรียมหาทางแก้ปัญหาสำรองไว้ เมื่อถึงคราวที่ผลผลิตทุเรียนออกมามาก ในอีก 1-2 สัปดาห์ หลังจากนี้ ไม่เช่นนั้นจะแก้ปัญหาไม่ทัน
“เจ๊แหม่ม” บอกว่า ราคาทุเรียนที่ลงไม่เกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่กวดขันตรวจสอบทุเรียนอ่อน แต่การดำเนินการในลักษณะนี้ทำให้ผู้บริโภคปลายทางมีความเชื่อมั่นในการบริโภคสินค้า(ทุเรียน)ไทย ดูได้จากต้นฤดูมาจนถึงปัจจุบัน ทุเรียนที่ส่งออกไป ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ซื้อ ว่า มีคุณภาพ แทบไม่พบการร้องเรียนเรื่องทุเรียนอ่อนเลยด้วยซ้ำ