ปานเทพ เผย กมธ.วิสามัญกัญชาฯ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เสร็จแล้ว ส่งต่อ ส.ส.ลงมติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจําปีครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ได้ลงมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …. (นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ เป็นผู้เสนอ) และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์กัญชา กัญชง พ.ศ. …. (นางพรรณสิริ กุลนาถศิริกับคณะ เป็นผู้เสนอ) และตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา โดยให้ถือเอาร่างพระราชบัญญัติของนายอนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ เป็นหลักในการพิจารณานั้น ขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ. ได้พิจารณาเสร็จแล้วและได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 14 กันยายนนี้

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกและกรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. … กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ จะเข้าสู่วาระพิจารณาเร่งด่วนของสภา ซึ่งเป็นการพิจารณารายมาตราของ ส.ส.ในสภา รวม 95มาตรา โดยขั้นตอนของกมธ.วิสามัญกัญชาฯ ถือว่าเสร็จแล้ว ที่เหลือจะเป็นการยกมือของ ส.ส. ในการเห็นชอบมาตราที่มีการแก้ไข โดยผลขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาฯ ทั้งนี้มีผู้สงวนแปรญัตติอยู่หลายคน จากนั้นเมื่อเสร็จขั้น ส.ส. แล้ว ก็ต้องไปผ่านวุฒิสภาอีกชั้นหนึ่ง

558000013636301
กมธ.วิสามัญกัญชาฯ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เสร็จแล้ว

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้นายปานเทพ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก แจง 13 ข้อกัญชาว่า ต้องไม่ถูกผูกขาดเอาไว้กับกลุ่มทุนแพทย์หรือกลุ่มทุนยาบางกลุ่มกรณีแพทยสภาได้เผยแพร่ข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายกัญชาของประเทศไทยและแสดงความห่วงใย

โดย 13 ข้อ มีใจความว่า ประการแรก อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 นั้น ได้ถูกแปลเป็นภาษาไทยและถูกนำมาใช้ในประเทศไทยอย่างไม่ถูกต้องมาหลายสิบปี เพราะไม่เคยมีข้อห้ามการใช้กัญชา ฝิ่น และโคเคนเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และทางวิทยาศาสตร์​ แต่ในประเทศไทยหลายสิบปีที่ผ่านมากลับมีการยกเลิกตำรับยาของการแพทย์แผนไทย “ทั้งหมด” ที่มี กัญชา หรือ ฝิ่นเป็นส่วนผสม อันเป็นการกีดกั้นภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยอย่างชัดเจนด้วยการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม นักวิจัย กลุ่มแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน และแพทย์แผนปัจจุบันที่ยึดเอาประโยชน์ของประชาชนในประเทศเป็นตัวตั้ง ได้ช่วยกันรณรงค์ต่อต้านสิทธิบัตรยากัญชาข้ามชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2561-2562 และมีการเรียกร้องให้มีการเปิดเสรีกัญชาทางการแพทย์ให้กับประชาชน

ต่อมาในปี 2562 รัฐบาลได้ยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาต่างชาติในประเทศไทย และเป็นผลทำให้รัฐบาลในชุดต่อมาได้ประกาศนโยบายนำกัญชาในตำรับยาของการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านให้กลับคืนมาได้บางส่วนตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา

หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ว่ายังคงมีการกีดกันการแพทย์แผนไทยยังคงอยู่ ดังตัวอย่างเช่น ฝิ่นซึ่งตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 ระบุให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ไม่ต่างจากกัญชา แต่เมื่อประเทศไทยยังไม่ได้มีการเรียกร้องทวงคืนการใช้ฝิ่นในตำรับยาแพทย์แผนไทย ประเทศไทยก็ยังคงกีดกั้นห้ามใช้ฝิ่นในตำรับยาแพทย์แผนไทยทั้งหมดอยู่จนถึงปัจจุบันอยู่ดี คงเหลือแต่การผูกขาดสารมอร์ฟีนซึ่งสกัดจากฝิ่นและแรงกว่าฝิ่น หรือยาที่มีส่วนผสมของมอร์ฟินเอาไว้กับแพทย์แผนปัจจุบัน และประเทศไทยต้องเสียรายได้นำเข้ายาราคาแพงกลุ่มนี้จากต่างประเทศจำนวนมหาศาล

ประการที่สอง กัญชาทางการแพทย์มิได้จำกัดอยู่วิธีการปฏิบัติเฉพาะการแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น เพราะกัญชายังอยู่ในรูป “สมุนไพร” มิได้มีแต่สารสกัดเดี่ยว ดังเช่น สารเตรตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) ที่ทำให้มึนเมา แต่สมุนไพร “เต็มส่วน”กัญชายังมีสารสำคัญออกฤทธิ์ต้านการทำงานของสารเตรตราไฮโดรแคนนาบินอลด้วยเช่นกัน อีกทั้งกัญชาหากไม่นำมาผ่านความร้อนที่สูงก็ไม่สามารถทำให้เกิดสารเตรตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC)ที่ทำให้เกิดความมึนเมาด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้น แม้สารเตรตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) ในกัญชาจะทำให้มึนเมาได้ แต่ก็มีผลการวิจัยมากมายพบว่ามีประโยชน์ในการยับยั้งมะเร็งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองได้หลายชนิดจนถึงขั้นมีการนำไปจดสิทธิบัตรยาจำนวนมาก แม้จะยังไม่เป็นที่ยุติในการวิจัยในมนุษย์ แต่ก็มีความสอดคล้องกันไปกับการแพทย์แผนไทยที่ระบุว่าสมุนไพรรสเมาเบื่อ มีสรรพคุณ แก้พิษดี แก้พิษโลหิต พิษไข้ พิษเสมหะ พิษสัตว์กัดต่อย แก้โรคอาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) โดยเฉพาะกัญชาได้ระบุเอาไว้ในพระคัมภีร์สรรพคุณเภสัชแลมหาพิกัด ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่า “กัญชาแก้ไข้ผอมเหลือง หากำลังมิได้ ทำให้ตัวสั่น เสียงสั่น เป็นด้วยวาโยธาตุกำเริบ แก้นอนมิหลับ”

ดังนั้นแม้แต่สารที่มึนเมาก็ไม่ได้มีแต่โทษแต่ยังมีประโยชน์ได้ด้วย แม้ประโยชน์เพียงแค่ช่วยการนอนไม่หลับก็เป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าต่อประชาชน ลดยานำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรู้และการนำไปใช้เช่นเดียวกับประโยชน์และโทษของสมุนไพรทุกชนิดในครัวเรือน

ดังนั้นหากแพทยสภาไม่พร้อมหรือยังไม่เห็นด้วยที่จะใช้กัญชาในรูปแบบสมุนไพรเต็มส่วนเหมือนการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน หรือการใช้ในครัวเรือน และจะมุ่งเน้นแต่สารสกัดเดี่ยวซึ่งเป็นที่นิยมในรูปแบบยาจดสิทธิบัตรยาข้ามชาติในการแพทย์แผนปัจจุบัน แพทยสภาย่อมสามารถกำหนดเวชปฏิบัติของวิชาชีพให้กับสมาชิกของแพทยสภาและราชวิทยาลัยของตัวเอง โดยไม่มีใครสามารถก้าวล่วงในแต่ละวิชาชีพได้อยู่แล้ว

ประการที่สาม โดยสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบันก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดพบว่ามีการใช้กัญชาใต้ดินอยู่แล้วจำนวนมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ต้องการใช้กัญชายังคงไม่สามารถเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ที่ถูกกฎหมายได้จริงด้วยเพราะยังช่องว่างระหว่างความต้องการของประชาชนกับแพทย์แผนปัจจุบันผู้จ่ายยากัญชานั้นมีความเห็นไม่ตรงกัน เช่น ข้อบ่งใช้ ตำรับยาที่ใช้ การคัดกรองผู้ป่วย การกำหนดให้ใช้ยาอย่างอื่นก่อน ฯลฯ

จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้แพทย์จ่ายน้ำมันกัญชาที่ถูกกฎหมายให้ผู้ป่วยได้น้อยมากจนเหลือค้างสต๊อก หมดอายุ และต้องทำลายทิ้งไปถึงครึ่งหนึ่ง แต่ในขณะที่ประชาชนที่ต้องการใช้กัญชาทางการแพทย์เข้าไม่ถึงการใช้กัญชาต้องลักลอบปลูกหรือ ใช้น้ำมันกัญชาอย่างผิดกฎหมายเกินกว่าครึ่งหนึ่ง แม้ว่าภาครัฐจะพยายามผลักดันผ่านคลินิกกัญชาแล้วก็ตาม ก็ยังมีประชาชนส่วนใหญ่ใช้กัญชาใต้ดินเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์จำนวนมากหรือเป็นส่วนใหญ่อยู่ดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กัญชาใต้ดินนั้นมีความเสี่ยงต่อสารพิษ ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก ตลอดจนถูกเอารัดเอาเปรียบและขายในราคาแพง หากปล่อยช่องว่างในอคติและความไม่เข้าใจระหว่างแพทย์และประชาชนไว้เช่นนี้ต่อไป นอกจากผู้ป่วยจะถูกคุกคามและรีดไถจากเจ้าหน้าที่รัฐที่จับกุมและปราบปราบยาเสพติดแล้ว ผู้ป่วยเหล่านี้กลับตกอยู่ในอันตรายจากสารพิษในกัญชาใต้ดินอีกด้วย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงนโยบายในการเข้าถึงกัญชาของประชาชน เพื่อทำให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคที่ต้องได้รับการคุ้มครองให้ดีกว่าสถานการณ์ปัจจุบัน

ประการที่สี่ ด้วยข้อเท็จจริงที่พบว่ากัญชามีความน่าจะเป็นในการเสพติดน้อยกว่าสุราและบุหรี่ อีกทั้งยังได้รับประโยชน์จากกัญชาในการเพิ่มคุณภาพการนอน ลดความเครียด และลดการอักเสบ ฯลฯ เมื่อประกอบกับประชาชนที่ต้องแอบใช้กัญชาใต้ดินทางการแพทย์อยู่เป็นจำนวนมาก จึงพบว่าประชาชนในประเทศไทยที่ได้ผ่านประสบการณ์กัญชาใต้ดินโดยส่วนใหญ่ ไม่ได้เห็นโทษของกัญชาเหมือนยาเสพติดอื่น ๆ

จากรายงานของโครงการศึกษาสถานการณ์การใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย ระหว่างพ.ศ. 2562-2563 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้สำรวจมีความเห็นควรให้ประชาชนทั่วไปมีสิทธิในการปลูกกัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้ร้อยละ 94.2 เห็นควรอนุญาตให้ประชาชนจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกัญชาใช้เพื่อผ่อนคลายได้ 65.3, เห็นควรอนุญาตให้ประชาชนทั่วไป มีสิทธิปลูกกัญชา เพื่อใช้ในการผ่อนคลายร้อยละ 61.3

นอกจากนั้นรายงานโครงการเดียวกันนี้ ยังพบว่าประชาชนเห็นว่ากัญชาควรเป็นสารเสพติดให้โทษทั้งในกรณีใช้เพื่อการแพทย์​และเหตุผลอื่น เหมือนในอดีตตามข้อเสนอของแพทยสภานั้น เห็นด้วยเพียงร้อยละ 21.6 เท่านั้น

แต่ในขณะที่ประชาชนเห็นว่ากัญชาควรมีกฎหมายควบคุมเช่นเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 75 และควรควบคุมเช่นเดียวกับยาสูบ บุหรี่ ร้อยละ 75.8

รายงานผลการศึกษาดังกล่าวข้างต้นสอดคล้องไปกับผลสำรวจของนิด้าโพลเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2565 พบว่ามีประชาชนเห็นด้วยมากและค่อนข้างเห็นด้วยรวมกันร้อยละ 58.55 ต่อการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ทำให้การปลูก เสพ สูบบริโภค สามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย

ประการที่ห้า แม้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมาก (ผู้แทนปวงชนชาวไทย) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน, และมอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี) จะได้ตัดสินใจทำให้กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไปแต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้มีการควบคุมเพราะนอกจากรัฐบาลโดยกระทรวงต่างๆและกระทรวงสาธารณสุขจะได้ทยอยระดมออกมาตรการมาก่อนหน้านี้ได้แล้ว ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ… ยังมีส่วนที่มีการควบคุมอย่างชัดเจนอีกด้วย

โดยกรรมาธิการฯ ได้นำรูปแบบการควบคุมของกฎหมาย 3 ฉบับ มาบูรณาการกัน ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมยาสูบ, พระราชบัญญัติควบคุมสุรา, พระราชบัญญัติพืชกระท่อม สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับการควบคุม ดังนี้

(1) สารสกัดที่มีสารเตรตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC)เกินกว่าร้อยละ 0.2 ของน้ำหนัก ยังคงต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และยังคงใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ได้ ยกเว้นการทำให้เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรยังคงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562

(2) กัญชาหรือกัญชง ส่วนที่เป็นอาหารจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 หากเป็นเครื่องสำอางจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง, หากเป็นร้านอาหารก็ต้องปฏิบัติตามประกาศกรมอนามัย หากเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร และหากเป็นยาก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติยา ซึ่งมาตรฐานภายใต้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขที่มีอยู่แล้ว ได้ควบคุมการใช้กัญชา และกัญชงอย่างปลอดที่สุดอย่างแน่นอนอยู่แล้ว

(3) ต้นไม้ที่เรียกว่า กัญชากับกัญชง จะถูกแยกออกจากกัน โดยมีระดับการควบคุมที่แตกต่างกัน ซึ่งกัญชาจะมีการควบคุมมากกว่ากัญชง โดยใช้ตัวชี้วัดจากปริมาณสาร Tetrahydrocannabinol, THC ที่คณะกรรมการกัญชา กัญชง ประกาศกำหนด

(4) การควบคุมการ “ผลิต” ในส่วนของ “ช่อดอก” หรือ “สารสกัด” เพื่อขายจะต้องได้รับใบอนุญาต ในส่วนอื่นๆ เช่น ราก ลำต้น เส้นใย ไม่ต้องขออนุญาต ส่วนอื่นๆให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ

(5) กำหนดให้รัฐจำเป็นต้องรายงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปลูกกัญชา กัญชง ทั้งการปลูก ผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ

(6) กำหนด “การจดแจ้ง” (ไม่ต้องขอนุญาต) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะต้องรับจดแจ้งให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว ไม่มีค่าธรรมเนียม สำหรับ 3 กรณีคือ

กรณีที่ 1 ประชาชนทั่วไปปลูกกัญชา กัญชง ไม่เกิน 15 ต้นต่อครัวเรือน (ห้ามขาย)

กรณีที่ 2 การปลูกกัญชงเพื่อใช้ราก ลำต้น เส้นใย เพื่อใช้ในครัวเรือนไม่เกิน 5 ไร่ (ห้ามขาย)

กรณีที่ 3 เป็นสถานพยาบาล ที่ปลูกเพื่อปรุงยาเฉพาะราย โดยการปรุงยาเฉพาะรายให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ถ้าไม่จดแจ้งมีโทษปรับ 2 หมื่นบาท หากมีการจดแจ้งแล้วนำไปให้เด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตรใช้นอกจากจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแล้ว ยังถูกเพิกถอนการจดแจ้งด้วย

(7) กำหนดให้มี “การอนุญาต” ทุกกรณีถ้ามีกิจกรรมการขายเพื่อธุรกิจ ทั้งนำเข้า ส่งออก ปลูก ผลิต สกัด ขาย หากไม่ขออนุญาตมีโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าเป็นความผิดฐานนำเข้ากัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยการปลูกกัญชา หรือกัญชงเพื่อการพาณิชย์ไม่เกิน 5 ไร่ ไม่มีค่าธรรมเนียม

โดยหากได้รับอนุญาตแล้วนำไปให้เด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตรใช้นอกจากจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแล้ว ยังถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้ด้วย

( 8 )ห้ามมีการขายกัญชา กัญชง หรือสารสกัดให้เด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ใครฝ่าฝืนนอกจากจะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หรือถูกเพิกถอนการจดแจ้งหรือเพิกถอนการอนุญาตแล้ว หากมีการกระทำความผิดฐานอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย ให้เพิ่มโทษนั้นเป็น 2 เท่า

แม้มีงานวิจัยทีเ่ป็นการการวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) ในปี 2565 จำนวน 16 ชิ้น คืองานวิจัยของกลุ่มนักวิจัยชาวออสเตรเลีย นำโดย วาเลนตินา ลอเรนเซตติ (Valentina Lorenzetti) ซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสารงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาและสารสำคัญในกัญชาโดยเฉพาะชื่อ Cannabis and Cannabinoid Research ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 โดยได้คัดเลือกงานวิจัยการใช้กัญชาในกลุ่มเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 12-26 ปี โดยเป็นการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบที่มีหลักฐานในการวัดของขนาดของสมองที่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่ใช้และไม่ใช้กัญชา

ผลการศึกษาสรุปพบว่า“กลุ่มเยาวชนทั้งใช้กัญชาและไม่ใช้กัญชามีปริมาณเนื้อสมองทั้งในภาพรวมและบริเวณส่วนต่างๆของสมองไม่แตกต่างกัน”

อย่างไรก็ตามด้วยงานวิจัยที่พบว่าเด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เพิ่มความเสี่ยงในการเสพติดกัญชาเพิ่มเขึ้นเป็น 2 เท่าเทียบกับคนที่อายุมากกว่า 20 ปี (แม้จะยังน้อยกว่าการติดสุรา) แต่การควบคุมที่เข้มข้นดังกล่าวก็เป็นไปเพื่อมิให้ใครมาแอบอ้างเอาเด็กเยาวชนเป็นตัวประกันในการปิดการเข้าถึงการใช้กัญชาของประชาชนอีกต่อไป

(9) มีการควบคุม “วิธีการขาย” เช่น ห้ามขายกัญชา กัญชง หรือสารสกัดผ่านเครื่องขาย, ห้ามขายช่อดอกหรือยางโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์, ห้ามเร่ขายช่อดอกหรือยางกัญชา กัญชง หรือสารสกัดเพื่อการสูบ

(10) มีการควบคุม “สถานที่ห้ามขาย”กัญชา กัญชง เช่น วัด สถานศึกษา หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนสนุก

(11) มีการควบคุมกำหนด “พื้นที่ห้ามสูบกัญชา” ได้แก่ พื้นที่สาธารณะ, วัด, สถานพยาบาล(ยกเว้นพื้นที่สำหรับผู้ป่วยโดยความเห็นชอบของแพทย์), สถานศึกษา, ปั้มน้ำมัน, สวนสาธารณะ,ร้านอาหาร ฯลฯ

(12) ห้ามผู้มึนเมากัญชา กัญชง สารสกัด ขับขี่ยานพาหนะ

(13) ห้ามโฆษณาหรือทำการสื่อสารการตลาดเกี่ยวกับช่อดอกหรือ ยางของกัญชา สารสกัด หรือเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบกัญชา

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าได้มีการควบคุมในระดับที่ใกล้เคียงกับสุรา ยาสูบ และกระท่อม และยังคงมีการจำกัดการการใช้ในครัวเรือน ตลอดจนมีการอนุญาตในทุกขั้นตอนเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ

จากที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าคณะกรรมาธิการฯ ได้รับฟังความคิดเห็นในการกำกับควบคุมดูแลจากทุกภาคส่วนแล้ว และมีความคาดหวังว่าภายใต้ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จะทำให้กัญชาและกัญชงไม่ถูกผูกขาดเอาไว้กลุ่มทุนแพทย์หรือกลุ่มทุนยาบางกลุ่มอีกต่อไป

จึงเห็นว่ากฎหมายของประเทศไทยที่กำลังดำเนินไปในขณะนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับอีกหลายประเทศที่ดำเนินการไปก่อนประเทศไทยหลายสิบปี และยังไม่พบเห็นการล่มสลายของสังคมชาติอื่นเหล่านั้น แต่กลับเห็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

จึงจำเป็นต้องทำให้ประเทศไทยสามารถถอดบทเรียนจากประเทศเหล่านั้นมาใช้เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบมาใช้ในส่วนข้อดีและลดข้อเสียเหล่านั้น เพื่อให้กัญชาเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สุภาพ และเศรษฐกิจ โดยยึดเอาประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ