นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากการที่มีข่าวเกษตรกรผู้ปลูกขิงในพื้นที่ บ้านกิ่วจำปี ม.21 ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ประมาณ 40-50 คน ได้รวมตัวกันร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยประสานให้ผู้ประกอบการเข้ามาช่วยรับซื้อผลผลิตขิงแก่ฤดูการผลิต ปี 2564 ที่เกษตรกรเก็บไว้รอการจำหน่ายตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2565 ซึ่งปกติในช่วงปลายฤดู (ส.ค.-ก.ย.) จะมีผู้ประกอบการเข้ามารับซื้อและให้ราคาค่อนข้างดี
แต่ปีนี้ปรากฏว่าไม่มีผู้ประกอบการเข้ามารับซื้อเหมือนเช่นเคย ทำให้มีผลผลิตตกค้างรอการจำหน่ายอยู่ในพื้นที่จำนวนหนึ่ง โดยขอให้ผู้ประกอบการเข้ามาช่วยรับซื้อในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 3 – 4 บาท
กรมการค้าภายใน ได้ขอให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย ในฐานะ Salesman จังหวัด บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ พบว่ายังมีผลผลิตขิงแก่ของเกษตรกรที่มีคุณภาพพร้อมจำหน่ายอยู่ประมาณ 50 ตัน จึงได้เร่งประสานผู้ประกอบการเข้าไปช่วยรับซื้อขิงของเกษตรกรดังกล่าว เพื่อระบายออกนอกพื้นที่แล้ว โดยมีการส่งมอบกันแล้วรวม 40 ตัน ในราคากิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ
สำหรับขิงส่วนที่เหลืออีกประมาณ 10 ตัน อยู่ระหว่างการตกลงวันส่งมอบ เนื่องจากในช่วงนี้ เกษตรกรจำเป็นต้องไปเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกไว้ก่อน เพื่อให้ทันขายในราคาที่มีการรับซื้อถึงกิโลกรัมละ 10 บาท ประกอบกับหากไม่รีบเก็บเกี่ยวอาจมีปัญหาด้านคุณภาพ
ทั้งนี้ จังหวัดฯ จะเร่งประสานการรับซื้อและส่งมอบให้ทันก่อนช่วงเวลาเก็บเกี่ยวขิงอ่อนฤดูใหม่ที่จะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดได้ตั้งแต่เดือนกันยายน เป็นต้นไป เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อราคารับซื้อขิงฤดูกาลใหม่ที่จะออกสู่ตลาดมากในระยะต่อไป
รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ จะได้ติดตามและประเมินสถานการณ์การผลิตการตลาดพืชผักและสินค้าเกษตรอื่น ๆ ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้ประกอบการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาผลผลิตด้านปริมาณและราคาที่จะมีผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดต่อไป
โดยเฉพาะในช่วงใกล้เทศกาลกินเจ (26 ก.ย.-4 ต.ค.65) ซึ่งในปีนี้มีสภาพอากาศแปรปรวนมีฝนตกชุกในพื้นที่แหล่งผลิต อาจทำให้พืชผักที่ใช้ในช่วงเทศกาลกินเจเกิดความเสียหาย ปริมาณอาจไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่เป็นอุปสรรคในการขนส่งสินค้า
ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ กรมฯ ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายให้ชัดเจน ห้ามฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาโดยไม่เป็นธรรม หากตรวจพบจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีไม่ติดป้ายแสดงราคาจะมีโทษ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นการจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่ไม่เป็นธรรม สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด