นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษารูปแบบการขนส่งทุเรียนสดจากประเทศไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ปี 2565 ซึ่ง สศก. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการจัดทำแผนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตรของประเทศไทยได้ดำเนินการศึกษารูปแบบและเส้นทางการขนส่งทุเรียนสดจากไทยไปจีน พร้อมทั้งพิจารณาข้อดี ข้อเสีย ของเส้นทางในแต่ละรูปแบบ
โดยการศึกษาได้คัดเลือกจังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดในประเทศ เป็นพื้นที่เป้าหมายของการศึกษา รวมทั้งลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์ใน 3 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจโรงคัดบรรจุที่รวบรวมผลผลิตและส่งออกทุเรียนสดไปจีน ผู้ให้บริการขนส่งทุเรียนสดจากไทยไปจีนทั้งทางถนน ทางน้ำ และทางอากาศ และ เจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรประจำด่านตรวจพืชและด่านศุลกากรที่เกี่ยวข้อง
จากข้อมูลช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560 – 2564) พบว่า รูปแบบการขนส่งทุเรียนสดจากไทยไปจีนเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่นิยมใช้การขนส่งทางน้ำ เปลี่ยนเป็นการขนส่งทางถนนเพิ่มขึ้น
โดยในปี 2560 ล้งใช้การขนส่งทางน้ำเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 90.87 รองลงมาได้แก่ การขนส่งทางถนน ร้อยละ 9.11 และทางอากาศ ร้อยละ 0.02
ต่อมาปี 2562 ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการขนส่งทุเรียนสดจากไทยไปจีน ส่งผลให้ล้งปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางน้ำไปเป็นทางถนนมากขึ้น
และในปี 2564 ล้งใช้การขนส่งทางถนนเป็นหลัก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70.63 รองลงมาเป็นการขนส่งทางน้ำร้อยละ 29.23 และทางอากาศ ร้อยละ 0.14 โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้การขนส่งทุเรียนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการขนส่งทางน้ำเป็นทางถนน คือ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และการขนส่ง – ขนถ่ายล่าช้า ทำให้ผลผลิตเสียหาย ไม่ได้คุณภาพ และอัตราค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นตามค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่การขนส่งทางถนน สามารถขนส่งได้อย่างรวดเร็ว และสามารถขนส่งไปยังจุดกระจายสินค้าในจีนโดยไม่ต้องมีการขนถ่าย อีกทั้งยังมีความคล่องตัวสูงในการปรับเปลี่ยนเส้นทางระหว่างการขนส่งเมื่อด่านนำเข้าของจีนปิดกะทันหัน
ทั้งนี้อัตราค่าขนส่งระหว่างทางน้ำและทางถนน พบว่าไม่แตกต่างกันมากนัก แต่การขนส่งทางน้ำมีข้อเสียคือไม่สามารถขนส่งไปยังแหล่งกระจายสินค้าในจีนได้โดยตรง จำเป็นต้องใช้การขนส่งทางถนนด้วยรถบรรทุกหรือรถไฟเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะทำให้เกิดต้นทุนค่าขนส่งที่สูงกว่าทางถนนได้ ขณะที่การขนส่งทางอากาศ ใช้ระยะเวลาน้อยที่สุด แต่อัตราค่าขนส่งสูงรวมทั้งยังมีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถขนส่งไปยังแหล่งกระจายสินค้าในจีนได้ จำเป็นต้องใช้การขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) เช่นเดียวกับการขนส่งทางน้ำ
ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวถึงรายละเอียดค่าขนส่งแต่ละประเภท โดยการขนส่งทางน้ำจากท่าเรือแหลมฉบังของไทยไปยังท่าเรือเซี่ยงไฮ้และชิงต่าวของจีนมีอัตราค่าขนส่งต่ำสุดอยู่ที่ 12 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ การขนส่งทางถนน โดยรถบรรทุก อัตราค่าขนส่ง อยู่ที่ 14 – 22 บาท/กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับเส้นทางที่ใช้ หากใช้เส้นทาง R3A จากด่านศุลกากรเชียงของ จังหวัดเชียงราย ผ่านด่านบ่อเต็น (สปป.ลาว) ด่านโม่ฮาน (จีน) ไปมณฑลยูนนาน อัตราเริ่มต้นอยู่ที่ 14 บาท/กิโลกรัม และหากใช้เส้นทาง R12 จากด่านศุลกากรจังหวัดนครพนม ผ่านด่านน้ำพราว (สปป.ลาว) ผ่านด่านจาลอ (เวียดนาม) ผ่านด่านโหย่วอี้กวน (จีน) ไปมณฑลหนานหนิง อัตราอยู่ที่ 22 บาท/กิโลกรัม ส่วนการขนส่งทางอากาศ มีอัตราค่าขนส่งสูงที่สุด อยู่ที่ 65 บาท/กิโลกรัม
ดังนั้น เพื่อให้การบริหารต้นทุนค่าขนส่งคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ล้งควรเลือกใช้รูปแบบการขนส่งให้เหมาะสมกับปริมาณผลผลิตตามฤดูกาลผลิตและความต้องการบริโภคของตลาดจีน โดยช่วงต้นฤดูที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ผู้บริโภคชาวจีนมีความต้องการบริโภคทุเรียนสดคุณภาพดีเกรดพรีเมี่ยม ล้งควรเลือกรูปแบบการขนส่งทางอากาศ เพื่อให้ทุเรียนสดถึงปลายทางได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค และยังสามารถขายทุเรียนสดได้ในราคาที่สูง
ซึ่งการขนส่งรูปแบบนี้เหมาะสำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคชาวจีนที่มีกำลังซื้อและมีความต้องการบริโภคโดยไม่สนใจราคา สำหรับช่วงกลางฤดู ผลผลิตทุเรียนสดออกสู่ตลาดมาก ล้งต้องการส่งออกในปริมาณมาก ควรเลือกการขนส่งทางถนนควบคู่กับการขนส่งทางน้ำ เพื่อลดความแออัดของการจราจรหน้าด่าน ทำให้ขนส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างต่อเนื่อง สามารถกระจายสินค้าไปยังตลาดจีนในเมืองต่าง ๆ ได้หลากหลาย และมีต้นทุนค่าขนส่งโดยรวมถูกลง และช่วงปลายฤดู ผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับความต้องการบริโภคและราคาทุเรียนในตลาดจีนลดลง ล้งควรเลือกรูปแบบการขนส่งทางน้ำเพื่อบริหารต้นทุนค่าขนส่งให้ต่ำที่สุด
สำหรับท่านที่สนใจผลการศึกษา สามารถสอบถามได้ที่ส่วนนโยบายและแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2579 1751 ในวันและเวลาราชการ