รัฐบาลพร้อมแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ลดฝุ่น PM 2.5 ตั้งเป้าไม่ให้เกิน 5% ของอ้อยทั้งหมด

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคการเกษตร ที่มีสาเหตุหลักมาจากการตัดอ้อยไฟไหม้ ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าไม่ให้มีการตัดอ้อยไฟไหม้เกิน 5% ของจำนวนอ้อยทั้งหมด ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตราการส่งเสริมการตัดอ้อยสด ผ่านการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดโดยไม่ต้องเผาอ้อย สำหรับฤดูการผลิต 2565/2566 มีการอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือเป็นจำนวน 8,159 ล้านบาท

%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A21
รัฐบาลพร้อมแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ดำเนินโครงการให้กู้ยืมและชดเชยดอกเบี้ย ปี 2565-2567 เป็นวงเงิน ปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท ให้กับชาวไร่อ้อย เพื่อชดเชยสำหรับการจัดการแหล่งน้ำ ซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 สำหรับแนวโน้มราคาของอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2565/2566 คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่าตันละ 1,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยราคาน้ำตาลตลาดโลก หากราคา (รวมพรีเมี่ยม) อยู่ที่ประมาณ 20.00 เซนต์/ปอนด์ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34 บาท/เหรียญสหรัฐ ราคาอ้อยขั้นต้นจะสูงกว่าตันละ 1,000 บาท”

“อ้อยเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศ ทั้งในเรื่องของการบริโภคและการแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดแนวทางการยกระดับประสิทธิภาพแบบครบวงจรตั้งแต่ภาคการเกษตร จนถึงภาคอุตสาหกรรม ที่สำคัญต้องไม่ให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยเป็นเหตุของปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 นโยบายการสร้างแรงจูงใจและช่วยเหลือเกษตรกรไม่ให้ตัดอ้อยไฟไหม้ ถือเป็นหัวใจสำคัญและได้รับการยอมจากเกษตรกร” นางสาวรัชดา กล่าว

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ระบุว่า มลพิษจากการเผาอ้อยจะมากหรือน้อยจะแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ โดยทั่วไปมลพิษจากการเผาไหม้ ประกอบด้วย ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ สารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยได้ อนุภาคของแข็งขนาดเล็กและฝุ่นละอองซึ่งจะกระจายไปในอากาศทำให้สภาพการมองเห็นลดลง เกิดการระคายต่อจมูกและลำคอแล้วถ้าประสบสภาวะนี้อยู่นาน ๆ จะเป็นผลเสียต่อการหายใจ เมื่อเกิดการเผาไหม้จะเกิดก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการขนถ่ายออกซิเจนของเลือดลดลง นอกจากนี้สารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยได้ ซึ่งมีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ เช่น เบนซิน โทลูอีน เมทิลลีนคลอไรด์ และเมทิลคลอโรฟอร์ม จะมีผลกระทบต่อพืชและมนุษย์อีกด้วย

การเผาอ้อยจะเกิดความร้อนสูงมาก ทำให้เกิดการเผาไหม้อย่างรวดเร็ว และเกิดฝุ่นละอองลอยตัวกระจายในอากาศสูงกว่า 2,250 เมตร และลอยไปได้ไกลถึง 16 กิโลเมตร หรือมากกว่า ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศโดยทั่วไป และก่อให้เกิดความรำคาญแก่ประชาชนในบริเวณดังกล่าว

ในการพิจารณาผลกระทบจากการเผาไร่อ้อยที่มีต่อมลภาวะทางอากาศ จะต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยดังนี้ ปริมาณของอ้อยที่เผา คุณภาพของอากาศในบริเวณนั้น สภาพทางอุตุนิยมวิทยา และอากาศพิษที่ปล่อยจากแหล่งอื่น ๆ ในย่านนั้น เช่น โรงงาน ยานพาหนะ เป็นต้นระหว่างการเผาไหม้สารประกอบซิลิก้า (Silica Fiber) ในอ้อย จะถูกปล่อยออกจากลำต้นอ้อย ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งปอดได้

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาจากประชากรในบราซิล พบว่า มีประชากรในเขตการปลูกอ้อยเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเรื้อรัง โดยที่ระดับของการป่วยจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและปัจจัยสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น ๆ นอกจากนี้พบว่า เถ้าที่เกิดจากการเผาอ้อยจะเป็นอันตรายต่อสายตาของประชากรที่อาศัยในบริเวณไร่อ้อยด้วย