“ข้าวรักษ์โลก” ข้าวแนวใหม่ของชาวนาไทย อวดโฉมเวที APEC 2022 ถอดรหัส BCG โมเดลเทรนด์กระแสแห่งอนาคต

หลังการเปิดตัว “ข้าวรักษ์โลก” สู่ผลิตภัณฑ์พรีเมียร์เพื่อเป็นผลลัพธ์เชิงประจักษ์สู่สากลในเวที APEC2022 โดยนายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าวกับแนวคิดการผลิตข้าวแนวใหม่ของชาวนาไทยกับโครงการข้าวรักษ์โลกหรือ BCGโมเดล ซึ่งเป็นความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก ผู้ดำเนินการและดูแล สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ รวมถึงกรมการข้าวและสำนักนายกรัฐมนตรี ผ่าน นายอนุชา นาคาศัย รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ให้การสนับสนุนกลายมาเป็น “ข้าวรักษ์โลก”

โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการนำร่องระยะที่ 1 ผลเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้น เกษตรกรชาวนามีความพึงพอใจในต้นทุนการผลิตที่ลดลงมากถึง 2,000 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 2,000 บาท จากการเพาะปลูก และเกษตรกรยังมีสุขภาพที่ดีขึ้นเนื่องจากเปลี่ยนมาใช้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตรที่ดีมีมาตรฐานแทนที่การใช้ปุ๋ยเคมีสารเคมียาฆ่าแมลงยาฆ่าหญ้า ผลผลิตดีมีคุณภาพเห็นได้อย่างชัดเจน

ซึ่งการขายข้าวจะมีภาคีโรงสีมารับซื้อในราคาที่เหมาะสมตามคุณภาพของข้าวโดยทางสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลกร่วมมือกับโรงสีในการรับซื้อ “ข้าวรักษ์โลก” ทั้งหมดเข้าสู่โรงสีผู้ส่งออกรายใหญ่ที่มีมาตรฐาน ISO22000 และเพื่อเป็นการส่งเสริมชาวนานักรักษ์ทางสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก บวกเงินรับซื้อเพิ่มให้อีก 1 บาท จากราคาที่โรงสีรับซื้อเพื่อสีข้าว หอมมะลิ 105 ให้เป็น “ข้าวรักษ์โลก”เกรดพรีเมียม บรรจุในกล่องที่มาตรฐานสวยงามเพื่อจัดทำเป็นของขวัญปีใหม่ และอวดโฉมในเวที การประชุม APEC 2022 ที่นำเสนอ “ข้าวรักษ์โลก”ในงาน APEC และแจกให้กับสื่อมวลชนต่างประเทศที่เข้าร่วมงาน

istockphoto 1322613308 612x612 1
ข้าวหอมมะลิไทย

และทั้งหมดนี้เป็นการร้อยเรียงห่วงโซ่ในกระบวนการทำนาใหม่ที่เป็นการส่งเสริมตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ (BCG Model)จากภาครัฐ ภาคีสมาคมและเอกชนที่ต้องการช่วยเหลือส่งเสริม การปฎิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นเทรนด์ใหม่แห่งโลกอนาคตของระบบเศรษฐกิจและระบบการเกษตรของโลกในรูปแบบ BCG

สำหรับ ข้าวรักษ์โลก BCG Model เกษตรปลอดภัย เน้นการทำเกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมี และหันมาใช้จุลินทรีย์ชีวภาพ เพื่อยกระดับการผลิตข้าว สู่มาตรฐานการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน และเป็นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนให้เกษตรกรชาวนาไทย หันมาทำนาแบบประณีต ที่มุ่งเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการข้าว ที่มีคุณภาพสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่

ทั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่สอดคล้อง กับนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวที่ทางรัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวคุณภาพดี ปลอดภัยทั้งต่อตนเอง ต่อผู้บริโภค และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ข้าวเป็นที่ต้องการของตลาด ขายได้ราคา มีตลาดรองรับ ก่อให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพของชาวนาไทยได้ในระยะยาว

และที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยากเห็นความยั่งยืนจึงได้มอบหมายให้ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และทีมสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับองค์กรเกษตรกร อย่าง สมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก ช่วยกันคิดช่วยกันทำ “ข้าวรักษ์โลก” เพื่อผู้บริโภครักสุขภาพ จากแหล่งผลิตข้าวชั้นดีของประเทศ เช่น เหนือสุด ทุ่งเชียงของ จังหวัดเชียงราย,ภาคเหนือตอนล่าง ทุ่งขาณุ จังหวัดกำแพงเพชร ,ร้อยแก่นสารสินธุ์, ทุ่งกุลาร้องไห้จังหวัดร้อยเอ็ดและมหาสารคาม ,นครชัยบุรินทร์, ดินภูเขาไฟ ประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ และ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัด ศรีสะเกษ