วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่พบปะประชาชนและพี่น้องชาวนา ในงานถ่ายทอดเทคโนโลยี “การปฏิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืน” ต.สถาน อ.เชียงของ จ.เชียงราย พร้อมลงเกี่ยวข้าวจากแปลงนารักษ์โลก เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจร่วมกับชาวนาเชียงราย
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า “การปฏิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืน” เกิดจากการส่งเสริมโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model โดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จำนวน 20 กองทุนหมู่บ้าน โดยมอบหมายให้ทางกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ผ่าน “โครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model” เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นผู้ผลิตข้าวคุณภาพระดับโลก
นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model เป็นการส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ ในรูปแบบเศรษฐกิจ BCG คือ ใช้ตลาดนำการเพาะปลูกโดยประสานภาคีโรงสีว่าต้องการข้าวพันธุ์อะไร จากนั้นจึงแจ้งให้กรมการข้าวจัดหาพันธ์ข้าวตามที่ต้องการส่งเสริมลงพื้นที่
กรมการข้าวและโรงสีจัดทำ Zoning พื้นที่การเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพไม่ปนเปื้อน ส่งเสริมการทำนาแบบประณีต ใช้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตรในการเพาะปลูก เลิกใช้ปุ๋ยเคมีสารเคมียาฆ่าแมลงยาฆ่าหญ้าเป็น B = Biotechnology Ecomomy เศรษฐกิจชีวภาพ ส่งเสริมให้ไถ่กลบต่อซังข้าวแล้วฉีดพ่นด้วยจุลินทรีย์เพื่อย่อยสลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติ C = Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน และในกระบวนการย่อยสลายต่อซังข้าวจะไม่ปล่อยก๊าซเลือนกระจก G = Green เศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนในการผลิต เช่นโดรนเพื่อการเกษตร เป็นระบบไฟฟ้า , เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานทางเลือกแบบหมุนเวียน เพื่อนำไปชาร์จแบตเตอรี่โดรน และหรือ เครื่องเพาะกล้า รถดำนาหยอดเมล็ดพันธ์ข้าว เครื่องอบข้าว โรงสีข้าวขนาดเล็กและกลาง เป็นต้น แล้วเมื่อเก็บเกี่ยวข้าว จะได้ข้าวคุณภาพ ปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคีโรงสีจะกลับมารับซื้อในราคาที่ดีและเหมาะสม
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวได้ดำเนินงานสอดรับกับนโยบายรัฐบาล ของนายกรัฐมนตรี ในเรื่องของการผลิตข้าวให้มีคุณภาพ ได้รับมาตรฐานสากล อาทิ มาตรฐานGAP มาตรฐานอินทรีย์ มาตรฐาน HACCP เป็นต้น โดยกระบวนการผลิตข้าวนั้นจะต้องลด ละ เลิก การใช้สารเคมี การเผาตอซังฟางข้าว เพื่อลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ซึ่งโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model นั้นจะเป็นโครงการที่ตอบโจทย์การผลิตข้าวที่ลดมลพิษเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ กรมการข้าวยังได้ดำเนินงานในเรื่องของการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพจากกรมการข้าวทั่วประเทศ โดยเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร สามารถนำเมล็ดพันธุ์ข้าวมาแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพกับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว และศูนย์วิจัยข้าวทั่วประเทศ เพื่อยกระดับการผลิตข้าว และผลักดันให้ข้าวไทยเป็นข้าวที่ดีที่สุดและอร่อยที่สุดในโลก อธิบดีกรมการข้าว กล่าวปิดท้าย