อลงกรณ์ ชี้ ราคายางยังผันผวนจากเหตุโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง ครั้งที่ 5/2565 ณ ห้องประชุมรัษฎา อาคาร 2 การยางแห่งประเทศไทย และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Zoom Cloud Meeting

314386419 581850060613240 217916659566985840 n
ราคายางยังผันผวน

โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกุลเดช พัวพัฒนกุล ประธานบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. นายธีระชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์ เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการตลาด นายประพันธ์ บุณยเกียรติ อดีตประธานบอร์ด กยท. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการค้าและการลงทุน นายอาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยจีน นายสวัสดิ์ ลาดปาละ ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคเหนือ ผู้แทนจากสมาคมยางพาราไทย ผู้แทนสมาคมน้ำยางข้นไทย ทูตเกษตรประจำสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ทุกภูมิภาคทั่วโลก และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

317728469 581850063946573 4305606710268805445 n
ราคายางยังผันผวน

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจ ตลาดยางพารา ในประเทศคู่ค้าที่สำคัญจากทูตเกษตร ประจำสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก อาทิ ทูตเกษตรจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป (กรุงบรัสเซลส์) สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม (อิตาลี) สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (สหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้) ฝ่ายเกษตร ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา (ออสเตรเลีย รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศอาเซียน) ซึ่งจากรายงานสถานการณ์การผลิต การค้า และการแข่งขันของตลาดยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางทั่วโลก รวมถึงรายงานสถานการณ์ปัญหาสงครามรัสเซีย – ยูเครน ยังคงส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางไทย

โดยสถานการณ์การส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางไทยไปยังรัสเซียยังคงหดตัว อีกทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหนักอยู่ในระยะ Wait and see mode และสต๊อกยางในรัสเซียยังล้นตลาดถึง 43% ส่วนสหรัฐอเมริกา เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง และสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจีนยังคงรุนแรง หลายพื้นที่ล็อกดาวน์ พบผู้ติดเชื้อสูง โดยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จีนพบผู้ติดเชื้อกว่า 49,479 ราย ไม่แสดงอาการ 448,350 ราย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าในจีน ซึ่งจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ส่งผลกระทบต่อราคาและการส่งออกยางพาราของไทย

ที่ประชุมยังรับทราบรายงานสถานการณ์ยางพารา เดือนพฤศจิกายน 2565 และคาดการณ์เดือนธันวาคม 2565 โดยฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย ได้รายงานคาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางพารา ปี 2565 มีปริมาณ 4.754 ล้านตัน ในช่วงไตรมาส 4/65 มีปริมาณผลผลิตยางพาราสูงกว่าทุกไตรมาส ปริมาณ 1.432 ล้านตัน การส่งออกในไตรมาสที่ 3/65 ไทยส่งออกรวม 1.150 ล้านตัน ยังอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน สำหรับช่วงเดือน ตุลาคม – ธันวาคม 2565 คาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกอาจจะชะลอตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ปริมาณสูงกว่าช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการส่งออกยางธรรมชาติของไทย ปี 2565 (มกราคม – กันยายน 2565) มีมูลค่า 216,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.99% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งออกไปยังประเทศจีนมากที่สุด มูลค่า 107,352 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ มาเลเชีย มูลค่า 19,153 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา มูลค่า 15,414 ล้านบาท ญี่ปุ่น มูลค่า 11,905 ล้านบาท เกาหลีใต้ มูลค่า 9,891 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ มูลค่า 52,813 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานเรื่องแพลตฟอร์มเพื่อการบูรณาการองค์ความรู้และนวัตกรรม (Field for Knowledge Integration and Innovation : FKII) และรายงานความก้าวหน้าโครงการจัดตั้งพื้นที่บริหารจัดการยางพารา (Rubber Valley)

รวมทั้ง ยังรับทราบความคืบหน้าร่างกฎหมาย Deforestation Free Product ซึ่งมีสาระสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยางและผลิตภัณฑ์ โดยกฎหมาย Deforestation Free Product ของสหภาพยุโรป หรือ EU นั้น ได้มีข้อกำหนดว่า สินค้าที่นำเข้ามาวางจำหน่ายในสหภาพยุโรปต้องไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าหรือการทำให้ป่าเสื่อมสภาพ จะเริ่มบังคับใช้กับสินค้า 6 ชนิด ได้แก่ เนื้อวัว ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม โกโก้ ไม้ กาแฟ และผลิตภัณฑ์จากสินค้าเหล่านี้

โดยสาระสำคัญตามมาตรา 3 (Prohibition) สรุปได้ดังนี้ คือ สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในสหภาพยุโรป จะต้องเป็นสินค้าที่ปลอดจากการทำลายป่า (Deforestation Free) การผลิตเป็นไปตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต มีการจัดทำ Due Diligence (ข้อมูลและเอกสารที่แสดงให้เห็นว่าเป็นไปตามมาตรา 3) มีระบบการควบคุมคุณภาพตรวจสอบย้อนกลับถึงผู้ผลิต และสถานที่ผลิตได้ โดยกลไกการตรวจสอบ ดังนี้ 1) จะมีการจัดกลุ่มประเทศผู้ผลิต (Country Benchmarking System) และแบ่งประเทศออกเป็น 3 กลุ่ม ตามความเสี่ยง คือ ความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงมาตรฐาน 2) ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกระบวนการทำหรือการตรวจสอบย้อนกลับถึงผู้ผลิต และมีการทบทวนทุก 2 ปี

ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติให้ กยท.ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป (กรุงบรัสเซลส์) และประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้ กยท. รายงานความคืบหน้าในประเด็นที่เกี่ยวกับการทำสวนยางยั่งยืนให้ที่ประชุมทราบในการประชุมครั้งหน้า