ระวัง “โรคผลเน่า” เชื้อราในทุเรียน

สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศร้อน และมีฝนตกบางพื้นที่ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เตือนผู้ปลูกทุเรียน ในระยะพัฒนาผล – เก็บเกี่ยว รับมือ“โรคผลเน่า” (เชื้อรา Phytophthora palmivora)ในทุเรียน

เริ่มแรกเกิดจุดแผลขนาดเล็กสีน้ำตาลดำบนผล จุดแผลจะขยายใหญ่ลุกลามมากขึ้นตามการสุกของผล ในสภาพที่มีความชื้นสูงอาจพบเส้นใยสีขาวของเชื้อราสาเหตุโรคบนแผล

พบอาการโรคได้ตั้งแต่ผลที่ยังอยู่บนต้น ซึ่งถ้าอาการรุนแรงมากผลจะเน่าร่วงหล่นก่อนกำหนด “โรคผลเน่า”พบได้ตั้งแต่ระยะผลอ่อน แต่ส่วนใหญ่มักพบในผลช่วง 1 เดือนก่อนเก็บเกี่ยวจนกระทั่งเก็บเกี่ยว และระหว่างการบ่มผลให้สุก

278232499 314026760876545 6380938617907070341 %E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

  1. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ ตัดผลที่เป็นโรคและเก็บผลเน่าที่ร่วงหล่นนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรหรือฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 30-50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วทรงพุ่ม จำนวน 1-2 ครั้ง ทุก 7-10 วัน และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวผล อย่างน้อย 15 วัน
  2. ไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ และควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง
  3. ในแปลงปลูกที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคผลเน่าสูง เนื่องจากมีต้นที่เป็นโรครากเน่าและโคนเน่าในแปลงมากและมีฝนตกชุกหรือมีความชื้นสูงในช่วงที่ทุเรียนใกล้เก็บเกี่ยวผล เชื้อสาเหตุโรคอาจจะติดไปกับผลได้โดยยังไม่แสดงอาการ ดังนั้น การเก็บเกี่ยวผลต้องระมัดระวังไม่ให้ผลสัมผัสกับดิน หรือปูพื้นดินที่จะวางผลด้วยวัสดุหรือกระสอบที่สะอาด เพื่อลดโอกาสที่ผลจะสัมผัสกับดินซึ่งมีเชื้อสาเหตุโรค และการขนย้ายควรระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลที่ผล
  4. โรคผลเน่า เกิดจากเชื้อสาเหตุชนิดเดียวกับโรครากเน่าและโคนเน่า ดังนั้นเพื่อให้การป้องกันกำจัดโรคได้ผลดี ควรทำการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าไปพร้อมกัน