เกษตรฯ แจง โครงการเยียวยาชาวสวนลำไย อยู่ในขั้นเสนอ ครม.

จากกรณีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ รวมตัวยื่นข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีช่วยเร่งรัดการจ่ายค่าชดเชย หลังขาดทุนมากว่า 2 ปี เนื่องจากมีพ่อค้าคนกลางกำหนดราคาซื้ออย่างไม่เป็นธรรมส่งผลให้ผลผลิตราคาตกต่ำ จึงได้เรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มดังกล่าว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาให้มีความเหมาะสม

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า การเยียวยาเกษตรกร ชาวสวนลำไย กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ได้ดำเนินการจัดทำโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2564/2565 เสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยเสนอแนวทางให้มีขนาดพื้นที่ปลูกรายละไม่เกิน 25 ไร่ ในอัตรา 2,000 บาทต่อไร่ กรอบวงเงิน 3,821.54 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

capture 20221223 165446
เยียวยาชาวสวนลำไยอยู่ในขั้นเสนอ ครม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่  27 ตุลาคม 2565   ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ทบอร์ด-Fruit Board)ผ่านระบบการประชุมทางไกล (ZOOM ฝMeeting) โดยที่ประชุมได้เห็นชอบ“โครงการพัฒนาลำไยอย่างยั่งยืน “เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตลำไยในฤดูและนอกฤดู เป็นสัดส่วนร้อยละ 60 : 40 ภายในปี 2567 ตามความต้องการของตลาดสอดคล้องกับแผนพัฒนาผลไม้ไทย ปี 2565 – 2570

พร้อมกับรายงานการศึกษาวิเคราะห์เสถียรภาพกลุ่มสินค้าลำไย รวมทั้งยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตโดยบูรณาการการทำงานเชิงรุกกับทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรสำรวจเกษตรกรที่ต้องการจะเข้าร่วมโครงการ พร้อมกับให้กระทรวงพาณิชย์จัดหาตลาดล่วงหน้า เพื่อรองรับผลผลิตนอกฤดูตามเป้าหมายของโครงการและมอบธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เสนอหลักการและคุณสมบัติเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการ และอัตราดอกเบี้ยในการเข้าร่วมโครงการ

ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการบริหารจัดการผลไม้ปี 2565 ประจำฤดูกาลผลิตที่ 2/2565 (กรกฎาคม – ตุลาคม) โดยสถานการณ์ลำไย ภาคเหนือ สามารถดำเนินการได้ตามแผนบริหารจัดการ มีผลผลิตรวมทั้งสิ้น 742,563 ตัน แบ่งเป็น กระจายผลผลิตภายในประเทศ จำนวน 138,677 ตัน หรือร้อยละ 18.68 ผ่านวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร Modern Trade ตลาดออนไลน์ และตลาดผลไม้ภายในจังหวัด เป็นต้น อีกทั้งยังมีการแปรรูป ทั้งลำไยอบแห้งทั้งเปลือก ลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง และอื่น ๆ เช่น ลำไยกระป๋อง และน้ำลำไยสกัดเข้มข้น จำนวน 511,434 ตัน หรือร้อยละ 68.87 และส่งออก จำนวน 92,451 ตัน หรือร้อยละ 12.45

สำหรับความก้าวหน้าโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2564/2565 ฝ่ายเลขานุการ ได้เสนอโครงการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีรอการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป โดยมีเงื่อนไขกรอบแนวทางช่วยเหลือที่กำหนดไว้ ดังนี้ ขนาดพื้นที่ปลูกรายละ ไม่เกิน 25 ไร่ ในอัตรา 2,000 ต่อไร่ กรอบวงเงินทั้งหมด 3,821.54 ล้านบาท

มาตรการช่วยเหลือเยียวยาด้านอื่น ๆ เช่น มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ ด้านหนี้สินและดอกเบี้ยโดย ธกส.เป็นต้น โดยต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนลำไยที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ปี 2564 กับกรมส่งเสริมการเกษตรเรียบร้อยแล้ว ตัดยอดข้อมูล (31 พ.ค. 65) ซึ่งปลูกลำไยที่ให้ผลผลิตโดยใช้เกณฑ์อายุต้น 5 ปีขึ้นไป