กยท.หนุนทำสวนยางมาตรฐาน FSC™ พร้อมจัดช่องทางขายผ่านตลาดยาง มียอดออร์เดอร์แล้ว กว่า 10,000 ตัน

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจต่าง ๆ ให้ความสำคัญในเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาเลือกใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมที่มีความเหมาะสมซึ่งรวมถึงสินค้าและผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยางพารา

660100000792
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย

อย่างเช่นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ของโลกและกลุ่มผู้ซื้อในหลายประเทศที่มีนโยบายการรับซื้อน้ำยาง ผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางที่ได้จากสวนยางพาราที่ผ่านการรับรองการจัดการภายใต้มาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (Forest Stewardship Council : FSC™)  กยท. จึงเดินหน้าส่งเสริมสวนยางพาราของไทยให้เข้าสู่ระบบการรับรองป่าไม้ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ยางพารา ระยะ 20 ปี ทั้งการรับรองป่าไม้ (Forest Certification) แบ่งเป็น การรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (Forest Management Certification : FM) และการรับรองกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากไม้และการค้า (Chain of Custody Certification : CoC) จึงครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการปลูกสร้างสวนยาง เก็บเกี่ยวแปรรูป จนถึงการซื้อ-ขายผลิตภัณฑ์จากยางพาราผ่านระบบตลาดยางพาราของ กยท. และหน่วยธุรกิจ ถือเป็นการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมยางพาราอย่างครบวงจร ที่คำนึงถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย

%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2
สวนยางพารา

 “ตลาดกลางยางพาราของ กยท. และตลาดเครือข่ายตลาดกลางยางพาราทั่วประเทศ จะเป็นช่องทางซื้อขายระหว่างผู้ซื้อกับเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ผลิตยางตามมาตรฐาน FSC™  โดย กยท.จะเข้าไปมีส่วนช่วยหาตลาดรองรับผลผลิตยางของเกษตรกรด้วย เบื้องต้นมีหลายบริษัทให้ความสนใจและแจ้งยอดสั่งซื้อผ่าน กยท. มาแล้ว กว่า 10,000 ตัน”

         

นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท. มุ่งเน้นนโยบายและดำเนินงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจและระบบตลาดภายใต้แนวทางการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางพาราให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ยางพาราของเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางของไทยต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง ครั้งที่ 5/2565 เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการฯรับทราบความคืบหน้าร่างกฎหมาย Deforestation Free Product ซึ่งมีสาระสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยางและผลิตภัณฑ์ โดยกฎหมาย Deforestation Free Product ของสหภาพยุโรป หรือ EU นั้น ได้มีข้อกำหนดว่า สินค้าที่นำเข้ามาวางจำหน่ายในสหภาพยุโรปต้องไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าหรือการทำให้ป่าเสื่อมสภาพจะเริ่มบังคับใช้กับสินค้า 6 ชนิด ได้แก่ เนื้อวัว ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม โกโก้ ไม้ กาแฟ และผลิตภัณฑ์จากสินค้าเหล่านี้

โดยสาระสำคัญตามมาตรา 3 (Prohibition) สรุปได้ดังนี้ คือ สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในสหภาพยุโรป จะต้องเป็นสินค้าที่ปลอดจากการทำลายป่า (Deforestation Free) การผลิตเป็นไปตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต มีการจัดทำ Due Diligence (ข้อมูลและเอกสารที่แสดงให้เห็นว่าเป็นไปตามมาตรา 3) มีระบบการควบคุมคุณภาพตรวจสอบย้อนกลับถึงผู้ผลิต และสถานที่ผลิตได้ โดยกลไกการตรวจสอบ ดังนี้ 1) จะมีการจัดกลุ่มประเทศผู้ผลิต (Country Benchmarking System) และแบ่งประเทศออกเป็น 3 กลุ่ม ตามความเสี่ยง คือ ความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงมาตรฐาน 2) ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกระบวนการทำหรือการตรวจสอบย้อนกลับถึงผู้ผลิต และมีการทบทวนทุก 2 ปี

ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติให้ กยท.ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป (กรุงบรัสเซลส์) และประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้ กยท. รายงานความคืบหน้าในประเด็นที่เกี่ยวกับการทำสวนยางยั่งยืนให้ที่ประชุมทราบ