วช. ขยายผลงานวิจัยพัฒนา “ชาอัสสัม” สู่ผลิตภัณฑ์ชาคุณภาพสูง.. ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ชุมชนสังคมเพื่อความยั่งยืน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมคณะผู้ทรงคุณวุฒิ เร่งติดตามและขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ตามโจทย์ความต้องการของชุมชน โดยลงพื้นที่จังหวัดลำปาง เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ ประจำปีงบประมาณ 2565 ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์แปรรูปชาบ้านป่าเหมี้ยง ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง 

324431425 493135152945866 2536520874646461269 n
วิจัยพัฒนา “ชาอัสสัม” สู่ผลิตภัณฑ์ชาคุณภาพสูง

การตรวจเยี่ยมและการติดตามผลการพัฒนาศักยภาพชาอัสสัมป่าสู่ผลิตภัณฑ์ชาคุณภาพสูงเพื่อการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ของชุมชนบ้านป่าเหมี้ยง จังหวัดลำปาง เป็นโครงการที่ วช. ได้ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ดำเนินการพัฒนาต้นแบบมาตรฐานการยกระดับและการสร้างมูลค่าเพิ่ม ในการผลิตชาอัสสัมที่มีคุณภาพ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้สร้างมาตรฐาน GAP ของสวนชาอัสสัม และสร้างมาตรฐาน GMP ของโรงงานผลิตชา พร้อมพัฒนากลุ่มวิสาหกิจให้เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ในการผลิตชาอัสสัมสู่ตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินงานของมทร.ล้านนา ลำปาง โดยการสนับสนุนของ วช. ได้ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการสร้างความเข้มแข็งแกชุมชน การพึ่งตนเอง และการเป็นพื้นที่ต้นแบบ ในการพัฒนาประเทศด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม

324584291 2066357393563251 7318183389406976163 n
วิจัยพัฒนา “ชาอัสสัม” สู่ผลิตภัณฑ์ชาคุณภาพสูง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาอัสสัม (Assam Tea) คือ หนึ่งในชาดำสุดคลาสสิคประจำประเทศอินเดียที่นิยมกันทั่วโลก ไม่ว่าจะด้วยรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ หรือกลิ่นอันหอมหวานชื่นใจ เป็นชาดำพื้นถิ่นของทางอินเดีย ซึ่งในสมัยก่อนมีการค้นพบพันธุ์ชาชนิดนี้โดยชาวอังกฤษชื่อ Robert Bruce ที่รัฐอัสสัมของอินเดียเพียงแห่งเดียวเท่านั้น โดยเริ่มมีการปลูกและส่งออกไปยังอังกฤษครั้งแรกระหว่างปี 1838-1839 และกลายเป็นชาดำประจำอินเดียนับตั้งแต่นั้นมา จึงได้ชื่อว่า ชาอัสสัม ซึ่งทางอินเดียก็นิยมปลูกชากันมาก ปลูกมาเป็นอันดับสองรองแค่ประเทศจีน แต่ชื่อเรียกที่ไม่เหมือนกัน โดยส่วนมากจะเรียกกันว่าชาอัสสัม แต่ที่ประเทศจีนจะเรียกว่า ชาแดง แต่จริงแล้วก็คือชาดำที่เรียกแตกต่างกันไป และด้วยรสชาติที่มีเอกลักษณ์ รวมถึงกลิ่นหอมหวานดึงดูดใจ จึงทำให้ชาอัสสัมเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

         

แรกเริ่มเดิมที ชาอัสสัม จะถูกปลูกทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย จนในเวลาต่อมาที่ได้รับความนิยมมากขึ้น การปลูกในสถานที่เดิมและสถานที่เดียวเท่านั้นจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด การเพาะปลูกต้องขยายออกไปในเมืองต่าง ๆ รวมถึงต่างประเทศ ซึ่งในประเทศไทยก็มีการเพาะปลูกชาชนิดนี้ด้วยเช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วจะปลูกกันที่จังหวัดเชียงใหม่ในส่วนที่เป็นภูเขาสูง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีเทียบเท่ากับต้นฉบับ

ลักษณะของใบชาอัสสัมเวลาแห้งจะเป็นสีดำ และบางครั้งมักจะมีดอกตูมสีทองแซมมาด้วย เมื่อนำไปแช่น้ำ ใบชาจะกลายเป็นสีแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม

ชาดำนี้ ไม่เหมือนกับชาเขียวหรือชาขาว เพราะผ่านการออกซิไดซ์ (Oxidized)  เกือบ 100% ส่งผลทำให้มีรสชาติที่เข้มขึ้น และด้วยรสชาติที่เข้มข้นนี้ ชาอัสสัมจึงนิยมนำไปเบลนด์เป็น English Breakfast Tea หรือจะผสมกับนมชงเป็นชานม (Milk Tea) ก็ได้ นอกจากนี้ ชาอัสสัมยังมีอายุการเก็บที่นานกว่าชาชนิดอื่น ๆ อีกด้วย

ถึงแม้ว่าชาอัสสัมจะมีคาเฟอีนน้อยแต่ก็เพียงพอที่จะทำให้ร่างกายตื่นตัว หายง่วงในตอนเช้า มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก ทำให้มีสุขภาพฟันและช่องปากที่ดี ทางภาคเหนือของไทยจะเอาใบชาอัสสัมมาทำเป็นเมี่ยง เอาไว้กินแก้เลี่ยน ในบางพื้นที่นิยมนำใบชาอัสสัมไปทำเป็นชาเขียว เพราะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือด โดยรวมแล้วชาอัสสัมมีประโยชน์ดังนี้ :

-ลดคอเลสเตอรอล ลดระดับน้ำตาลในเลือด

-ล้างพิษสะสมในไตและขับปัสสาวะ

-ดีต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด

-อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของเซลล์

-ปรับสมดุลระบบไหลเวียนโลหิต