โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ดูแลเกษตรกรไทย ช่วยผลักดันสินค้าเกษตรราคาสูงขึ้น เพิ่มรายได้เกษตรกร

วันที่18 มกราคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบรายงานกรณีราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการมีราคาที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากโครงการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรของรัฐบาล ทั้งนี้สำหรับการประกันราคาข้าว รัฐบาลได้ดำเนินการ เบิกจ่ายงวดที่ 14 ให้กับเกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวเรียบร้อยแล้ว 

IMG 63879 20230118115808000000
นายอนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมถึงการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 งวดที่ 14 สำหรับเกษตรกรกว่า 4 พันราย ที่แจ้งวันเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 7-13 มกราคม 2566 โดยมีราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและส่วนต่างชดเชย ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 14,139.99 บาท ชดเชยตันละ 860.01 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 13,540.74 บาท ชดเชยตันละ 459.26 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,949.63 บาท ชดเชยตันละ 50.37 บาท ซึ่งจากการดำเนินการการจ่ายส่วนต่างราคาสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกร ในงวดที่ 1-13 รัฐบาลได้ดำเนินการจ่ายเงินชดเชยไปแล้ว กว่า 2.575 ล้านครัวเรือน

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ทำ “การจับคู่ธุรกิจ” (Business Matching) กับผู้ประกอบการต่างประเทศ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้สินค้าเกษตรของไทย อาทิ มันสำปะหลัง ข้าว หรือ ข้าวโพด รวมทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งสำหรับการเบิกจ่ายเงินประกันราคาสินค้าเกษตร ในงวดที่ 14 มีสินค้าเกษตรหลายรายการ อาทิเช่น ข้าวโพด และ มันสำปะหลัง ที่มี ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง สูงกว่าเกณฑ์ที่รัฐบาลประกันราคา ทำให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินประกันราคาในส่วนนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินการนโบบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานการณ์การส่งออกข้าว ในปีที่ผ่านมาถึง 7.7 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 7.5 ล้านตัน ทั้งนี้สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 4 ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 จะดำเนินการจ่ายเงินชดเชยงวดที่ 14 ภายในวันที่ 18 มกราคม 2566 

“นายกรัฐมนตรียินดีกับผลการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรหลายตัวมีราคาสูงขึ้น โดยรัฐบาลได้จ่ายเงินส่วนต่างตามโครงการประกันรายได้ข้าวด้วยแล้ว ประกอบกับรัฐบาลได้เร่งหาตลาดให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะตลาดส่งออกสินค้าในต่างประเทศ เพื่อทำให้สินค้าไทยติดตลาดเป็นที่ต้องการในต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง” นายอนุชาฯ กล่าว

ทั้งนี้ การตรวจสอบประกันรายได้ข้าว 65/66 จ่ายส่วนต่าง 3 ขั้นตอน ดังนี้ 

1. เข้าไปที่เว็บไซต์ chongkho.inbaac.com ตลอด 24 ชั่วโมง

2. กรอกเลขที่บัตรประชาชนจำนวน 13 หลัก

3. โดยระบบจะแจ้งรายละเอียดของบัญชี จำนวนเงิน และโครงการของเงินช่วยเหลือที่ได้รับ

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรละสหกรณ์การเกษตร ในสาขาที่มีบัญชีหรือลงทะเบียนไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีกำไรจากการเกษตรไม่มาก รายได้สุทธิของเกษตรกรตกประมาณ 260 บาทต่อวันต่อครัวเรือน ซึ่งยังต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับชาวนาไทยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาขายข้าวได้ราคาเพิ่มขึ้น 3.9 เท่า แต่ต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะราคาปุ๋ยเคมีกลับเพิ่มสูงถึง 11.4 เท่า ทำให้มีรายได้หักต้นทุน (รวมต้นทุนแรงงาน) โดยเฉลี่ยขาดทุนต่อเนื่อง เช่นเดียวกับพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ยางพารา และอ้อย ซึ่งชาวสวนชาวไร่โดยเฉลี่ยขาดทุนบ่อยขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้เกษตรกรไทยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินอยู่ที่ 1.2 เท่า และสัดส่วนดังกล่าวยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก เหตุผลหลักมาจากทำการเกษตรแล้วขาดทุน รวมถึงต้องกู้ยืมเงินมาลงทุนทำเกษตรในฤดูกาลถัดไป เกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดทุนบ่อยต้องกู้เพิ่มเรื่อย ๆ ทำให้มีภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ไม่มีกำลังที่จะจ่ายคืนเงินต้น ติดกับดักหนี้จนออกได้ยาก ในกรณีที่เลวร้ายกว่านั้น เกษตรกรที่มีปัญหาหนี้มากจนไม่สามารถกู้ยืมเงินในระบบได้อีก ไม่มีหนทางอื่นนอกจากหันไปกู้ยืมนอกระบบซึ่งมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงลิบ จนกระทั่งพบทางตัน ต้องขายที่ทำมาหากิน