ส่งออกธ.ค.65 ทำได้มูลค่า 21,718.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 14.6% ส่งผลให้ยอดรวมทั้งปีมีมูลค่า 287,067.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 5.5% คิดเป็นเงินบาท 9,944,317 ล้านบาท ทำได้เกินเป้าที่ตั้งไว้ เผยปี 66 เคาะเป้าร่วมกับภาคเอกชนคาดโตไม่มากแค่ 1-2% ยอดรวมทะลุ 10 ล้านล้านบาท เหตุเศรษฐกิจโลกยังเสี่ยง น้ำมันยังเป็นต้นทุนสำคัญ และค่าบาทแข็งเร็ว เตรียมลุยเจาะตลาดศักยภาพเพิ่มยอด เน้นตะวันออกกลาง เอเชียใต้ CLMV และจีน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนธ.ค.2565 มีมูลค่า 21,718.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14.6% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 776,324 ล้านบาท ส่งออกรวมทั้งปี 2565 (ม.ค.-ธ.ค.) มีมูลค่า 287,067.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.5% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 9,944,317 ล้านบาท หรือเกือบ 10 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าการส่งออกยังทำได้ดี เพราะปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการส่งออกไว้ที่ 4% แต่จบปีสามารถทำได้เกินเป้าหมาย
สำหรับการส่งออกในเดือนธ.ค.2565 ที่ขยายตัวติดลบ เป็นผลจากการส่งออกสินค้าเกษตรลดลง 11.6% แต่ทั้งปี ยังบวกได้ 2.2% สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ลดลง 10.8% ทั้งปี เพิ่ม 17.8% และสินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 15.7% ทั้งปี เพิ่ม 4.4%
โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกขยายตัวได้ดีในปี 2565 จำนวน 10 รายการ ได้แก่ 1.น้ำตาลทราย เพิ่ม 98.9% 2.เครื่องโทรสารโทรศัพท์และส่วนประกอบ เพิ่ม 71.5% 3.อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่ม 50.3% 4.ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เพิ่ม 44.8% 5.หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่ม 32.0% 6.อุปกรณ์กึ่งตัวนํา ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เพิ่ม 26.2% 7.ไก่แปรรูป เพิ่ม 24.8% 8.ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง เพิ่ม 24.6% 9.ไอศกรีม เพิ่ม 23.0% 10.อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 15.3%
ส่วนตลาดที่ขยายตัว 10 ลำดับ ในปี 2565 ได้แก่ 1.ตะวันออกกลาง เพิ่ม 22.8% 2.สหราชอาณาจักร เพิ่ม 15.6% 3.แคนาดา เพิ่ม 14.2% 4.สหรัฐฯ เพิ่ม 13.4% 5.CLMV เพิ่ม 11.5% 6.เอเชียใต้ เพิ่ม 11.5% 7.อาเซียน (5) เพิ่ม 9.5% 8.ลาตินอเมริกา เพิ่ม 5.9% 9.สหภาพยุโรป เพิ่ม 5.2% และ 10.ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 1.7%
“เหตุผลที่การส่งออกปี 2565 ยังขยายตัวได้สูง เพราะกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการผลักดันการส่งออกเชิงรุกและเชิงลึก ในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงร่วมกับเอกชน มีการผลักดันให้ประเทศเพื่อนบ้านเร่งเปิดด่านชายแดน หลังปิดทำการชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การส่งออกชายแดนขยายตัวดีขึ้น และส่งผลให้ตัวเลขส่งออกภาพรวมดีขึ้น ได้รับผลดีจากการที่ผู้ซื้อทั่วโลกเร่งหาแหล่งสำรองอาหาร และปัญหาโลจิสติกส์ได้รับการคลี่คลาย ทั้งค่าระวางเรือที่ปรับลดลงมาสู่ราคาปกติ และตู้คอนเทนเนอร์มีปริมาณเพียงพอ”นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับภาคเอกชน และมีความเห็นสอดคล้องกันในการกำหนดเป้าหมายการส่งออกปี 2566 ว่าจะขยายตัว 1-2% น้อยกว่าปี 2565 ที่ตั้งไว้ 4% เพราะมีปัจจัยที่เป็นแรงเสียดทานทางลบหลายปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเพิ่มแค่ 0.5-1.0% สหภาพยุโรป เพิ่ม 0-0.5% ญี่ปุ่น เพิ่ม 1.6% ซึ่งเมื่อขยายตัวน้อย ก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย มีการคาดการณ์ว่าสต๊อกสินค้าในไตรมาสแรกปี 2566 จะยังคงมีสูง ทำให้หลายประเทศชะลอการสั่งซื้อ ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงและไม่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต และค่าเงินบาท มีแนวโน้มแข็งค่า ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทยลดลง เพราะแพงกว่าคู่แข่ง
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออก เช่น ระบบการขนส่งสินค้ากลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งค่าระวางเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ ความต้องการด้านอาหารของโลกยังมี เป็นผลดีกับการส่งออกอาหารของไทย ตลาดศักยภาพบางตลาด ยังรองรับการส่งออกของไทยได้ และมี 4 ตลาดที่จะบุกเป็นพิเศษ เช่น ตะวันออกกลาง คาดว่าจะบวกได้ 20% เอเชียใต้ คือ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ คาดเพิ่ม 10% ตลาด CLMV คาดเพิ่ม 15% และจีน ที่เป็นตลาดใหญ่และกำลังเปิดประเทศ คาดจะทำตัวเลขบวกได้
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การกำหนดตัวเลขเป้าหมายการส่งออกดังกล่าว มีการตั้งวอร์รูมศึกษาเชิงลึกในแต่ละประเทศ จึงมั่นใจว่าจะไม่ติดลบแน่นอน เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ หลายประเทศที่การส่งออกติดลบ และการส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ ร่วมกับภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตัวเลขเป้าหมายส่งออกปี 2566 ใกล้เคียงกับที่ภาคอุตสาหกรรมประเมิน แม้จะมีความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่เชื่อว่าการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเปิดตลาดและเจาะตลาด เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และ CLMV จะช่วยเพิ่มยอดการส่งออกมาเติมในส่วนที่ขาดหายไปได้ และปีนี้ ปัญหาเรื่องขาดแคลนชิป ก็คลี่คลายลงแล้ว ส่วนปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังต้องติตตามใกล้ชิดต่อ แต่คงไม่มีผลต่อราคาพลังงานมากนัก เพราะผ่านจุดพีกไปแล้ว ส่วนค่าเงินบาท ยอมรับว่าแข็งค่าเร็ว แค่ 2-3 เดือนแข็งขึ้นมาเกือบ 20% แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า การส่งออกในเดือนธ.ค.2565 ที่กลับมาติดลบ 14.6% เป็นการกลับมาติดลบเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน หลังจากที่เดือนต.ค.2565 ติดลบครั้งแรกในรอบ 20 เดือนนับจากก.พ.2564 ส่วนการนำเข้าเดือนธ.ค.2565 มีมูลค่า 22,752.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.0% ขาดดุลการค้า 1,033.9 ล้านเหรียญสหรัฐ รวม 12 เดือน นำเข้ามูลค่า 303,190.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.6% ขาดดุลการค้า 16,122.8 ล้านเหรียญสหรัฐ