ขึ้นทะเบียน GI “กล้วยหอมทองพบพระ” ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มรายได้ท้องถิ่น

“พาณิชย์”ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “กล้วยหอมทองพบพระ” จ.ตาก มั่นใจช่วยให้สินค้าเป็นที่รู้จัก เพิ่มมูลค่า และสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นมากขึ้น เผยปัจจุบันมีขายอย่างแพร่หลายในท็อปส์ และวิลล่า มาร์เก็ต และยังส่งออกไปได้ถึงญี่ปุ่น สร้างรายได้ให้ชุมชนรวมกว่าปีละ 440 ล้านบาท

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) กล้วยหอมทองพบพระ จ.ตาก ซึ่งเป็นสินค้า GI รายการที่ 3 ของจังหวัด ตามหลังแปจ่อเขียวแม่สอด (ถั่วทอด) และครกหินแกรนิตตาก ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนก่อนหน้านี้ โดยจะทำให้สินค้าชุมชนท้องถิ่นเป็นที่รู้จักมากขึ้น ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นที่ปลูกกล้วยหอมทองพบพระได้มากขึ้น

63da0a90b22f8
กล้วยหอมทองพบพระ

ทั้งนี้ กล้วยหอมทองพบพระ เป็นกล้วยพันธุ์กล้วยหอมทองที่ปลูกในพื้นที่อำเภอพบพระ ด้วยสภาพอากาศร้อนชื้น ฝนตกสม่ำเสมอ ทำให้กล้วยหอมทองพบพระมีรสชาติหอมหวาน เป็นเอกลักษณ์ เนื้อสัมผัสแน่น เหนียวหนึบ ผลโค้งคล้ายรูปตัวแอล ปลายผลมีจุกคล้ายดินสอ เปลือกบางและผลสุกสีเหลืองทองสม่ำเสมอกัน ซึ่งกล้วยหอมทองพบพระ 1 เครือ มีน้ำหนักถึง  14 กิโลกรัม

ทั้งนี้อำเภอพบพระ จังหวัดตาก มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 500 – 800 เมตร และมีดินดี น้ำดี อากาศดี ตรงตามมาตรฐานการส่งเสริมปลูกกล้วยหอมทอง จึงเป็นปัจจัยทำให้กล้วยหอมทองพบพระของจังหวัดตาก เป็นที่ต้องการของตลาดไทยและตลาดโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยง (Links) ระหว่างปัจจัยสำคัญสองประการ คือ ธรรมชาติและมนุษย์ กล่าวคือ ชุมชนได้อาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัตถุดิบเฉพาะในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าในท้องถิ่นของตนขึ้นมา ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่มาจากพื้นที่ดังกล่าว คุณลักษณะพิเศษนี้อาจหมายถึง คุณภาพ ชื่อเสียงหรือคุณลักษณะเฉพาะอื่น ๆ ที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้น ๆ

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ อาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยตรง (Direct Geographical Indication) เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้น ๆโดยตรง เช่น ไชยา เพชรบูรณ์ เป็นต้น

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยอ้อม (Indirect Geographical Indication) กล่าวคือ เป็นสัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ไม่ใช่ชื่อทางภูมิศาสตร์ ซึ่งใช้เพื่อบ่งบอกแหล่งภูมิศาสตร์อันเป็นแหล่งกำเนิดหรือแหล่งผลิตของสินค้า เช่น สัญลักษณ์ประจำอำเภอ หรือจังหวัด รูปย่าโม รูปหอไอเฟล เป็นต้น


สินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มักจะเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยม เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษหรือมีลักษณะเฉพาะที่เกิดจากอิทธิพลสิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เช่น สภาพแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ ของแหล่งภูมิศาสตร์นั้น ๆ ตลอดจนทักษะความชำนาญและภูมิปัญญาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์นั้น ๆ ประกอบด้วย

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มีความแตกต่างจากทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น กล่าวคือ ผู้เป็นเจ้าของไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดแต่เป็นกลุ่มชุมชนที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้น ๆ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิตที่อาศัยอยู่ในสถานที่หรือแหล่งภูมิศาสตร์ และผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้นเท่านั้นที่มีสิทธิผลิตสินค้าดังกล่าวโดยใช้ชื่อทางภูมิศาสตร์นั้นได้ ผู้ผลิตคนอื่นที่อยู่นอกแหล่งภูมิศาสตร์จะไม่สามารถผลิต สินค้าโดยใช้ชื่อแหล่งภูมิศาสตร์เดียวกันมาแข่งขันได้ สิทธิในลักษณะดังกล่าวนี้นักวิชาการบางท่านเรียกว่า “สิทธิชุมชน” ซึ่งไม่สามารถนำสิทธิที่ได้รับไปอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้ต่อได้ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่แหล่งภูมิศาสตร์เท่านั้นที่มีสิทธิใช้