รมช.ประภัตร ร่วมสืบสานประเพณีพี่น้องเกษตรกรชาวอีสาน งานบุญลอมข้าวใหญ่

       

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานบุญลอมข้าวใหญ่ พร้อมทั้งมอบโค ในโครงการธนาคารโค – กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ ณ วัดมธุวัณโณวาสต.หนองกุดใหญ่ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ว่า ประเพณีบุญลอมข้าวใหญ่   หรือบุญคุณลานนั้น เป็นประเพณีของชาวอีสาน ที่แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของชุมชนที่ดำรงอยู่ด้วยวิถีเกษตรกรรมมาช้านาน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน ชาวนาจึงได้สำนึกในบุญคุณของข้าวที่ได้หล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยทุกคน นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงออกถึงพลังความสามัคคี ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของชุมชน เพื่อสืบทอดจิตวิญญาณที่กล้าแกร่งของชาวนา

     

นายประภัตร กล่าวว่า บุญลอมข้าวใหญ่ เป็นการสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวบ้านที่ห่างหายไปเพราะปัจจุบันเกษตรกรมีวิถีชีวิตใหม่ โดยการใช้รถเก็บเกี่ยวและอุปกรณ์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้น แทนการเก็บเกี่ยวโดยธรรมชาติและแรงงานคนตามวิถีของชาวบ้าน ทำให้การลอมข้าวหลังเก็บเกี่ยว และการปลงข้าวหรือการนำเครื่องบูชาพระแม่โพสพเสียบไว้ที่ลอมข้าวที่เป็นประเพณีที่แสดงออกถึงการเห็นคุณค่าของข้าวและน้ำสูญหายไป และเพื่อเป็นการสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีในวิถีทำนาแบบธรรมชาติ  กระทรวงเกษตรฯได้ส่งมอบโค โครงการธนาคารโค – กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ ซึ่งเกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวแก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จำนวน 27 ตัวเพื่อให้ได้ใช้โค-กระบือ เป็นแรงงานในการทำนาปลูกข้าวเป็นลักษณะของการอยู่ร่วมกันพึ่งพากันตามธรรมชาติ อีกทั้งยังได้มูลโคนำมาเป็นปุ๋ยคอก เป็นการลดรายจ่ายและทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยเหลือให้เกษตรกรมีปัจจัยการผลิตเป็นของตนเอง

329097420 1118139192201666 5445927069616606909 n
สืบสานงานประเพณีบุญลอมข้าวใหญ่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นานมาแล้วช่วงฤดูของการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไร่นาของชาวนาภาคอีสาน ในสมัยที่เครื่องจักรและเทคโนโลยียังไม่มีบทบาทในการดำรงชีวิตของชาวนา เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการเก็บเกี่ยวข้าวชาวนาจะทำ “ลอมข้าว” โดยการนำมัดสีทองข้าวในนามากองรวมกัน โดยจะเรียงมัดข้าวให้เป็นแถวเรียงเป็นชั้น ๆ จากนั้นจะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญข้าว ซึ่งจะมีการดูฤกษ์งามยามดีก่อนทำพิธีและเริ่มการ “ตีข้าว” หรือ นวดข้าว โดยใช้ไม้ยาว 2 ท่อน มีเชือกมัดติดกันเอาไว้ ปลายไม้ท่อนหนึ่งเรียวแหลมและอีกท่อนกลมมน และในระหว่างนั้นชาวบ้านเพื่อนใกล้ไร่นาเคียง ก็จะมาช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้น ซึ่งเมื่อนวดข้าวเสร็จแล้ว ชาวนาก็จะได้ข้าวเปลือกกองใหญ่ รวมไปถึงพิธีกรรมอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นพิธีบูชาแม่พระโพสพ เพื่อขอขมาที่ชาวนาได้เหยียบย่ำลงไปบนเมล็ดข้าว และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและเป็นขวัญกำลังใจ ในการเริ่มฤดูกาลทำนาในปีต่อไป

329107796 742249440838261 3425746995090239935 n 1
สืบสานงานประเพณีบุญลอมข้าวใหญ่

ซึ่งประเพณีดังกล่าวนี้นับเป็นเสน่ห์ของพี่น้องชาวอีสาน แสดงให้เห็นถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความรักและความสามัคคีกันในชุมชน นับเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าแก่การอนุรักษ์ เพื่อไม่ให้เลือนหายไปจากแผ่นดินอีสาน

329177011 726239159036299 104869142996443759 n
ร่วมงานบุญลอมข้าวใหญ่

“บุญลอมข้าว” ” จึงเป็นการสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวบ้านที่เรียกได้ว่าห่างหายไป ปัจจุบันชาวบ้านมีวิถีชีวิตใหม่ โดยการใช้รถเก็บเกี่ยวและอุปกรณ์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้น แทนการเก็บเกี่ยวโดยธรรมชาติและแรงงานคน ที่เคยมีการแบกการหาม ตามวิถีของชาวบ้าน และได้ทำลอมข้าวขึ้นหลังเก็บเกี่ยวเพื่อป้องกันแมลงและไม่ให้ข้าวชื้น เกิดเป็นลอมข้าวขนาดใหญ่ที่สวยงามและประณีตโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน และมีการปลงข้าวหรือการนำเครื่องบูชาพระแม่โพสพเสียบไว้ที่ลอมข้าว เพื่อบอกกล่าวก่อนทำการตีข้าวตามวิถีของคนอีสาน ด้วยเครื่องบูชาต่าง ๆ นับเป็นประเพณีที่แสดงออกถึงการเห็นคุณค่าของข้าวของน้ำ ไม่ลบหลู่สิ่งที่ให้ชีวิตและหล่อเลี้ยงของชาวอีสาน สอดคล้องพุทธศาสนาคือมีการนิมนต์พระเจริญพระพุทธมนต์ มีการทำบุญเลี้ยงเพลพระถวายภัตตาหาร