ที่ประชุมบูรณาการแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก ครั้งที่ 2/2566 เคาะประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียน 3 จังหวัดภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด) ทุเรียนพันธุ์กระดุมและพวงมณี 10 มีนาคม พันธุ์ชะนี 20 มีนาคม และพันธุ์หมอนทอง 15 เมษายน พร้อมกำหนดค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ ในขณะที่สถานการณ์ไม้ผลของ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ปริมาณผลผลิตไม้ผล 4 ชนิด ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกองปีนี้มีแนวโน้มลดลง
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ครั้งที่ 1/2566 ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ ปี 2566 ที่นำเสนอโดยคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกรเพื่อการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้เป็นนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ที่ให้ความสำคัญการควบคุมและป้องกันทุเรียนอ่อนทุเรียนด้อยคุณภาพเพื่อให้ผลผลิตทุเรียนที่จะทำการส่งออกต้องได้คุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานการส่งออกที่กำหนด
โดยมอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตร บูรณาการในพื้นที่สวนทุเรียน จัดตั้งจุดบริการตรวจเปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด ระยอง ชุมพร และจังหวัดนครศรีธรรมราช และจากการประชุมบูรณาการแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก ครั้งที่ 2/2566 เห็นชอบให้ประกาศวันเก็บเกี่ยวเป็นรายสายพันธุ์และรายจังหวัด แต่เนื่องจากการซื้อขายทุเรียนทั้ง 3 จังหวัด ผลผลิตไหลมารวมกันที่จุดใหญ่คือจันทบุรี ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียนเป็นรายภาคตะวันออก ดังนี้
#ทุเรียนพันธุ์กระดุมและพวงมณี วันที่ 10 มีนาคม 2566
#ทุเรียนพันธุ์ชะนี วันที่ 20 มีนาคม 2566
#ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง วันที่ 15 เมษายน 2566
ทั้งนี้ จังหวัดโดยสำนักงานเกษตรจังหวัด เป็นหน่วยรับผิดชอบในการจัดทำประกาศจังหวัดต่อไป
ในส่วนของเกษตรกร หากเก็บเกี่ยวก่อนวันประกาศฯ ต้องนำตัวอย่างผลทุเรียนลูกที่อ่อนที่สุดในรุ่นที่จะทำการเก็บเกี่ยวมาให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งเพื่อออกใบรับรองความแก่ เพื่อแนบไปกับรถขนส่งทุเรียนไปจำหน่าย ณ ที่ล้ง/โรงคัดบรรจุ
การกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน โดยการตรวจสอบน้ำหนักแห้งด้วยเครื่องเตาอบไมโครเวฟ โดยใช้ค่ามาตรฐานเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนของกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 3-2556 ซึ่งกำหนดค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ ดังนี้
พันธุ์กระดุม ไม่น้อยกว่า 27 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง
พันธุ์ชะนี ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง
พันธุ์พวงมณี ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง
พันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง
สำหรับสถานการณ์ไม้ผลภาคตะวันออก ไม้ผลรวมทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง ของ 3 จังหวัดภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด) ปี 2566 มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 875,586 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน 838,119 ไร่ (เพิ่มขึ้น 37,467 ไร่ หรือร้อยละ 4.47)
เนื้อที่ให้ผลรวม 657,470 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีจำนวน 651,604 ไร่ (เพิ่มขึ้น 5,866 ไร่ หรือร้อยละ 0.90) ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,734 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565 ที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,826 กิโลกรัม (ลดลง 92 กิโลกรัม หรือร้อยละ 5.04) มีปริมาณผลผลิตรวม 1,140,380 ตัน ลดลงจากปี 2565 ที่มีจำนวน 1,189,522 ตัน (ลดลง 49,142 ตัน หรือร้อยละ 4.13)
ปริมาณผลผลิตไม้ผล ทั้ง 4 ชนิดในปีนี้มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่มีฝนตกชุกช่วงปลายปี 2565 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2566 สลับกับอากาศหนาวเย็นยาวนาน ไม่เอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผลของไม้ผล ทำให้ไม้ผลในระยะดอกช่วงแรกถูกฝนชะดอก จึงไม่สามารถพัฒนาเป็นผลได้ อีกทั้งได้รับผลกระทบจากลมพายุในช่วงเดือนธันวาคม 2565 และมกราคม 2566 ทำให้ไม้ผลที่ออกดอกมาก่อนหน้าดอกร่วง ประกอบกับมีการโค่นต้นมังคุด เงาะ ลองกอง ที่ให้ผลแล้วออกเพื่อปลูกทุเรียนทดแทน ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ลดลง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการกระจายตัวของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด เบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะทยอยเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ต่อเนื่องจนถึงต้นเดือนตุลาคม 2566 โดยจะออกกระจุกตัวสูงสุดในช่วงกลางเดือนเมษายนต่อเนื่องถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2566