ครบรอบ 1 ปี RCEP ช่วยส่งเสริมสินค้าไทยสู่ตลาดจีน

การครบรอบ 1 ปีของความตกลง RCEP

ปัจจุบัน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีสมาชิกรวม 15 ประเทศ ได้แก่ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ คิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของโลกในแง่จำนวนประชากร ขนาดเศรษฐกิจ และมูลค่าการค้า

RCEP เริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 และปัจจุบัน มีผลใช้บังคับกับประเทศสมาชิก 14 ประเทศ ยกเว้นฟิลิปปินส์ที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายใน

1 %E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%9B%E0%B8%81RCEP shutterstock 1869287146 scaled

เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นวาระครบรอบ 1 ปีของความตกลง RCEP โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ภายใต้สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนและเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยในสถานการณ์โควิด-19 ความตกลง RCEP ได้ช่วยผลักดันการเติบโตของการค้า การลงทุน รวมถึงการเชื่องโยงห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาคและของโลก

ผลลัพธ์ของความตกลง RCEP ต่อจีน

จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก ที่ผ่านมาหน่วยงานจีนได้เน้นย้ำถึงบทบาทที่แข็งขันของจีนในการผลักดันการมีผลใช้บังคับ รวมถึงการปฏิบัติตามความตกลง RCEP ที่มีมาตรฐานสูง ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 กระทรวงพาณิชย์จีนได้แถลงผลลัพธ์ 4 ประการของการขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับประเทศสมาชิก RCEP ในปี 2565 ได้แก่

การค้าและการลงทุน ในปี 2565 มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับประเทศสมาชิก RCEP อยู่ที่ 12.95ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 จากปี 2564 และคิดเป็นร้อยละ 30.8 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของจีน ในขณะที่การลงทุนโดยตรงของจีนในประเทศสมาชิก RCEP อยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไม่รวมภาคการเงิน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 จากปี 2564 และจีนดึงดูดการลงทุนจากประเทศสมาชิก RCEP ได้ถึง 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.1 จากปี 2564

2 %E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99 RCEP
การค้าระหว่างจีน – ประเทศสมาชิก RCEP ในปี 2565

-รัฐบาลจีนระดับท้องถิ่น การเชื่อมโยงและการใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP ของรัฐบาลท้องถิ่นจีนเริ่มเห็นผล โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์นโยบายภาษี กฎการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า[1] และการกระชับความร่วมมือด้านห่วงโซ่ธุรกิจและห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นส่วนหนึ่งได้กำหนดให้การส่งเสริมการค้าและการลงทุนภายใต้ความตกลง RCEP เป็นหนึ่งในภารกิจการยกระดับสภาพแวดล้อม   การทำธุรกิจในท้องถิ่น อาทิ การจัดตั้งเขตสาธิตความร่วมมือที่มีมาตรฐานสูงภายใต้ความตกลง RCEP

บริษัทจีน ได้รับประโยชน์จากความตกลง RCEP ซึ่งในปี 2565 บริษัทจีนได้ยื่นขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (C/O) ภายใต้ความตกลง RCEP ทั้งหมด 673,000 ฉบับ คาดว่าจะได้รับการลดภาษีมูลค่า 1,580 ล้านหยวนจากการส่งออกสินค้า และ 1,550 ล้านหยวนจากการนำเข้าสินค้า

ความร่วมมือระหว่างประเทศ จีนได้ใช้ประโยชน์จากกลไกการประชุม RCEP ระดับรัฐมนตรีและการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อประสานงานและร่วมกับประเทศสมาชิกในการดำเนินการตามความตกลง RCEP อาทิ การผลักดันการลดภาษี การเพิ่มการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาคการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจ และเพิ่มระดับการบังคับใช้ความตกลง RCEP

ภาพรวมการค้าไทย – จีนในปี 2566

ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรจีน (GACC) พบว่า ในปี 2565 ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 14 ของจีน(การจัดอันดับรวมฮ่องกงและไต้หวัน) ขณะที่จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย เป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 และแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย

ในปี 2565 มูลค่าการค้าไทย – จีนอยู่ที่ 134,997.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 โดยจีนนำเข้าจากไทยมีมูลค่า 56,517.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.6 ขณะที่จีนส่งออกไปไทยมีมูลค่า 78,479.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 จากปีก่อน ทั้งนี้ ไทยขาดดุลการค้า 21,962 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปจีน อาทิ เครื่องจักรและส่วนประกอบ ผัก ผลไม้และธัญพืช ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ทองแดงและผลิตภัณฑ์ทองแดง ยานพาหนะและส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ แป้ง เคมีภัณฑ์และสารอินทรีย์ น้ำตาล อะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม

สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากจีน อาทิ เครื่องจักรและส่วนประกอบ พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า ยานพาหนะและส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์ เคมีภัณฑ์และสารอินทรีย์ อะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม

สินค้าไทยได้ประโยชน์จากความตกลง RCEP

ในปี 2565 ไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 7 ของจีนในบรรดาประเทศสมาชิกความตกลง RCEP รองจาก เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม ออสเตรเลีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยไทยเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 5 และแหล่งนำเข้าลำดับที่ 7 ของจีนภายใต้ความตกลง RCEP

%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A29
ผลไม้ไทยสู่ตลาดจีน

ในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2565 ไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลง RCEP ในการส่งสินค้าไปยังประเทศสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ มาเลเซีย และเวียดนาม มูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิฯ อยู่ที่ 48,419.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ อยู่ที่ร้อยละ 1.9 โดยสินค้าที่ไทยใช้สิทธิภายใต้ความตกลง RCEP เพื่อส่งออกมาจีน ได้แก่ มันสำปะหลัง ทุเรียน เลนส์กล้อง ฝรั่ง มะม่วง และมังคุด

ภายหลังจีนยกเลิกมาตรการ Zero Covid กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศจีน รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคจีนมีแนวโน้มการฟื้นตัว นอกจากนี้ ยังเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทยเข้าจีน เนื่องจากการยกเลิกมาตรการตรวจเชื้อโควิด-19 บริเวณด่านชายแดน ทำให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้สะดวกยิ่งขึ้น ขณะที่ช่วยลดต้นทุนการขนส่ง และลดโอกาสที่สินค้าจะเน่าเสีย

ทั้งนี้ จากการรายงานข่าวของ China Central Television (CCTV) ตั้งแต่ความตกลง RCEPมีผลใช้บังคับ การขนส่งสินค้าจากไทยมาจีนและการผ่านด่านศุลกากรมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น อาทิ เดิมบริษัทส่วนหนึ่งต้องใช้เวลา 15 – 30 วันในการผ่านด่าน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 6 วันในการส่งสินค้าไปยังท่าเรือชินโจว (กว่างซี) นอกจากนี้ ด่านทางบกส่วนหนึ่งของจีน อาทิ ด่านโหย่วอี้กวน (กว่างซี) ได้เปิดช่องทางพิเศษในการนำเข้าทุเรียน ซึ่งเป็นสินค้าเน่าเสียง่าย เพื่อส่งเสริมการนำเข้าผลไม้คุณภาพสูงในช่วงเทศกาลตรุษจีน

โอกาสและความท้าทายของสินค้าไทยในระยะต่อไป

การฟื้นตัวของภาคการบริโภคของจีนเป็นปัจจัยบวกต่อสินค้าไทย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่สำคัญของคนจีน อาทิ ตรุษจีน ซึ่งมีการซื้อสินค้าไทยหลายประเภทเป็นของขวัญ สะท้อนให้เห็นถึงความชื่นชอบและความไว้วางใจของผู้บริโภคชาวจีนต่อคุณภาพของสินค้าไทยในยุคหลังโควิด-19 นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นจีนมีความตื่นตัวกับความตกลง RCEP และได้มีการดำเนินการที่สำคัญ อาทิ การจัดตั้งเขตสาธิตความร่วมมือที่มีมาตรฐานสูงภายใต้ความตกลง RCEP การปรับลดขั้นตอนผ่านด่าน และการเปิดช่องทางพิเศษในการนำเข้าสินค้าเน่าเสียง่าย ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับสินค้าไทยในการเข้าสู่ตลาดจีนได้มากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน สินค้าไทยอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นยิ่งขึ้น สืบเนื่องจากที่จีนอนุญาตการนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิก RCEP โดยเฉพาะผลไม้เพิ่มขึ้น อาทิ กล้วยของเมียนมา ลำไยของกัมพูชา และทุเรียนของเวียดนาม นอกจากนี้ สำหรับสินค้าประเภทอื่น ๆ ยังต้องแข่งขันกับกับสินค้าแบรนด์จีนมากยิ่งขึ้น อาทิ ในช่วง 3 ปีของสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศส่งผลให้ชาวจีนมีความนิยมสินค้าแบรนด์จีนมากยิ่งขึ้น

สำนวนจีนกล่าวไว้ว่า “สุราดีย่อมไม่กลัวตรอกลึก” (酒香不怕巷子深)” สื่อความหมายว่าสุราที่กลั่นอย่างดีย่อมมีกลิ่นหอม ถึงแม้จะอยู่ในตรอกลึกเพียงใด แต่กลิ่นหอมของสุรานั้นก็หอมจนทุกคนได้กลิ่น และแสวงหาที่มาเพื่อให้ได้ลิ้มรส ความหมายของสำนวนนี้คือ ของดีไม่ว่าอยู่ที่ไหนย่อมมีคนพยายามตามไปเสาะหาจนพบ สำหรับผู้ประกอบการไทย ถ้ามีความใส่ใจและมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพของสินค้าอย่างต่อเนื่อง สินค้าไทยก็ยังจะเป็น “สุราดี” ที่จะได้รับความชื่นชอบและความไว้วางใจจากผู้บริโภคจีนต่อไปอย่างแน่นอน

ที่มา :ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง