ฝ่า 3 วิกฤตซ้อน..”ส่งออกไทย”ยังบวก 4 เดือนปี65 +13.7% เงินเข้าประเทศ 3,183,591 ล้านบาท

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศและการค้าชายแดนและผ่านแดนเดือนเมษายน 2565 พร้อมด้วยนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 ตึกสำนักงานปลัด กระทรวงพาณิชย์

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตัวเลข “การส่งออก” เดือนเมษายน 65 แม้เจอหลายวิกฤตซ้อนกันทั้งโควิด เศรษฐกิจ สงครามการค้า และรัสเซีย-ยูเครน แต่ “การส่งออกของไทย” ยังเป็นบวก 9.9% หรือประมาณ +10% คิดเป็นมูลค่า 782,146 ล้านบาท ทำให้การส่งออก 4 เดือน ม.ค.-เม.ย. 65+13.7% มูลค่า 3,183,591 ล้านบาท หรือ 3.183 ล้านล้านบาท

S 76275720
ส่งออกไทยยังบวก

สินค้าสำคัญ 3 หมวดสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป และสินค้าอุตสาหกรรม สำหรับสินค้าเกษตร เม.ย.65 +3% ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง มูลค่า 83,396 ล้านบาท

สินค้าที่ขยายตัวสูง เดือน เม.ย.65 ได้แก่ “ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง” +49.5% มูลค่า 16,742 ล้านบาท โดยเฉพาะการขยายในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวันและสหรัฐอเมริกา ข้าว +44% มูลค่า 9,978 ล้านบาท ขยายตัวดีในตลาดสหรัฐ อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน เซเนกัลและโมซัมบิก โดยข้าวหอมมะลิเดือนเม.ย.เป็นบวกถึง 102.3% ข้าวนึ่ง + 45.3% ปลายข้าว +27.9% ข้าวขาว +14.5% ข้าวเหนียว +11.9%

แนวโน้ม “การส่งออกข้าว” ปีนี้คิดว่าจะเกินเป้าที่กำหนดไว้ ปีที่แล้วส่งออก 6.1 ล้านตัน ปีนี้แนวโน้มจะส่งออกได้ 7-8 ล้านตัน เงาะสด +240% มังคุดสด +95.8% มะม่วงสด +14% เป็นต้น

สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เม.ย.65 +22.8% คิดเป็น 64,374 ล้านบาท น้ำตาลทราย +87.9% มูลค่า 8,497 ล้านบาท อาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวดีต่อเนื่อง 32 เดือน +24.7% มูลค่า 7,863 ล้านบาท อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป +8.9% มูลค่า 10,697 ล้านบาท

สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่อง เม.ย.65 +8.3% มูลค่า 597,288 ล้านบาท เช่น ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม +17 เดือนต่อเนื่อง เม.ย.65+53.2% มูลค่า 9,474 ล้านบาท อัญมณีและเครื่องประดับ +14 เดือนต่อเนื่อง เม.ย. +48.5% มูลค่า 21,557 ล้านบาท เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ +17 เดือนต่อเนื่อง เม.ย. +25.6% มูลค่า 21,132 ล้านบาท และแผงวงจรไฟฟ้า +17 เดือนต่อเนื่อง เม.ย.+15.3% ทำเงินเข้าประเทศ 24,411 ล้านบาท

โดยตลาดที่ขยายตัวสูง 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.สวิตเซอร์แลนด์ (+392.2%) 2. เอเชียใต้ (+33.9%) 3. อาเซียน(5) (+26.9%) 4. ตะวันออกกลาง (+25.4%) 5. แคนาดา (+22.5%) 6. ไต้หวัน (+19.3%) 7. แอฟริกา (+14.9%) 8. สหรัฐฯ (+13.6%) 9. เกาหลีใต้ (+11.5%) 10. ฮ่องกง (+10.6%)

ปัจจัยที่เป็นบวกสำหรับการส่งออกในเดือนเมษายนและในอนาคตมีหลายปัจจัย เช่น

ประการที่หนึ่ง การเร่งรัดการส่งเสริมการส่งออกข้าว โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ทูตพาณิชย์ได้มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะร้านอาหารไทยในต่างประเทศให้หันมาใช้ข้าวหอมมะลิมากขึ้น และข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ได้รับเครื่องหมาย GI ของสหภาพยุโรปกลายเป็นจุดขายสำคัญ และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเร่งรัดการเจรจาส่งออกข้าวเป็นกำลังเสริมสำคัญหนุนการส่งออก

ประการที่สอง การขยายความร่วมมือกับตลาดใหม่ เช่น ภูฏานมุ่งเน้นสมุนไพรไทยและยาแผนโบราณ

ประการที่สาม การลงนาม Mini-FTA เช่น กับอินเดีย รัฐเตลังคานา, กับจีนมณฑลไห่หนานและกานซู่ มีผลกระตุ้นส่งออกในอนาคตได้

ประการที่สี่ การประชุม JTC ไทย-เวียดนาม ล่าสุดที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ช่วยให้การส่งผลไม้ผ่านแดนจากเวียดนามไปจีนคล่องตัวขึ้นในอนาคต และขอให้เวียดนามยกเลิกระงับการนำเข้าไก่ เงาะและมะม่วง ถ้าสำเร็จจะช่วยเสริมตัวเลขส่งออกได้มากขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมการค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ในตลาดเวียดนาม

ประการที่ห้า การเจรจาระดับทวิภาคีเพื่อการส่งออก เช่น กับเปรูและฮ่องกง ที่จะช่วยนำเข้าข้าวพรีเมี่ยมจากไทยมากขึ้น กับเวียดนามมองโกเลีย จะเป็นปัจจัยบวกสำคัญสำหรับการส่งออกในอนาคต

ประการที่หก การส่งเสริมการส่งออกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์รวมทั้งทำ OBM จับคู่ธุรกิจออนไลน์ จะมีส่วนสำคัญด้านตัวเลขการส่งออกและจะทำต่อเนื่อง

ประการที่เจ็ด ภาคการผลิตโลกในภาพรวมยังขยายตัว ดัชนี PMI (Purchasing Managers Index หรือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ )ยังอยู่ในระดับเหนือ 50 ต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 22 ถือเป็นสัญญาณบวกที่จะนำเข้าสินค้าจากไทย เพื่อใช้ในการผลิตมากขึ้น

ประการที่แปด ค่าเงินบาทยังอ่อนค่า มีส่วนช่วยเสริมให้ตัวเลขการส่งออกดีขึ้นและการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวเลขส่งออก โดยสำหรับ 4 เดือนแรก ม.ค.-เม.ย.65 การส่งออกภาพรวม 313,882 ล้านบาท ติดลบ 0.04% แต่เป้าของการส่งออกผ่านการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนตั้งเป้าเป็นบวกที่ 5% จะทำตัวเลขให้ได้ 1,082,897 ล้านบาท ซึ่ง 4 เดือนแรกของปีนี้ทำได้แล้ว 313,882 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 30%ยังเหลือเวลาอีก 8 เดือน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะทำได้ตามเป้า

ภาพรวมการค้าชายแดน ยังถือเป็นบวกในเกือบทุกประเทศ เฉพาะเดือน เม.ย.กัมพูชา +31.36% เมียนมา +16% สปป.ลาว +5.77% ภาพรวม 4 เดือนแรก ม.ค.-เม.ย.65 +17.5% สำหรับการค้าชายแดนแต่ภาพการค้าชายแดนรวมเวียดนามกับจีน ตัวเลขติดลบ เฉพาะเดือน เม.ย.ส่งออกไปจีนการค้าผ่านแดนทางบก -45% เวียดนาม -24.73% เพราะเวลาส่งสินค้าไปจีนต้องผ่านเวียดนามจึงติดลบไปด้วยกัน เพราะเราหันไปส่งออกทางเรือและทางอากาศมากขึ้น

การส่งออกทางบกลดลง เนื่องจากนโยบายซีโร่โควิดของจีนและการปิดด่านเพราะโควิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาได้ดีทั้งเชิงรุกและเชิงลึก ตามนโยบายที่ตนมอบ ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางจากการส่งออกทางบกไปทางเรือและทางอากาศแทน ทำให้ตัวเลขการส่งออกสินค้าตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย.65 ภาพรวมเป็นบวก 13.7% นำเงินเข้าประเทศ 3.183 ล้านล้านบาท

เช่น การส่งออกผลไม้ไปจีน แก้ปัญหาเชิงรุกและเชิงลึกรวดเร็ว การส่งผลไม้ไปจีนทางบก เดิมส่งทางบก 48% เดือน เม.ย. ลดเหลือ 27.5% ทำให้ตัวเลขการค้าข้ามแดนไปจีนลดลง แต่เราไปเพิ่มทางเรือจากเดิม 52% เป็น 68% และทางอากาศจาก 0.5% เพิ่มเป็น 4.6% ทำให้ตัวเลขการส่งออกเดือนเมษายนยังเป็นบวกได้ต่อเนื่อง

จากนั้นช่วงคำถามผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงประเด็น Food protectionism ที่มีหลายประเทศมีปัญหาอยู่ขณะนี้ เรื่องนี้รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่าสำหรับประเทศไทยยังไม่ได้เป็นปัญหา เนื่องจากสิ่งที่ประเทศต้นทางส่งออกไม่ใช่สินค้าที่เรานำเข้าในปริมาณที่มากนัก ไม่มีนัยยะสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันที่บางประเทศไม่สามารถส่งออกอาหารได้จากการเกิด food protectionism จะส่งผลดีกับประเทศไทย ที่เป็น hub of kitchen ทำให้เราส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า ที่คู่แข่งจากประเทศอื่นประสบปัญหาส่งออกไม่ได้

จากนั้นผู้สื่อข่าวถามว่า การส่งออกข้าวของอินเดียและเวียดนามมีแนวโน้มที่จะลดลง ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะลดลงตามหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประเมิน สินค้าแต่ละตัวว่ามีสินค้าตัวไหนบ้างที่จะต้องลงไปจับตามอง ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ แต่ในภาพรวมยังไม่มีสินค้าตัวไหนที่น่าเป็นห่วงหรือเป็นปัญหา แต่หากจะมองลึกลงไปในแต่ละชนิดย่อย เป็นเรื่องของแต่ละกระทรวงที่ต้องเข้าไปดูในรายละเอียด เช่น กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง