เกษตรฯ คุมเข้มคุณภาพไม้ผลภาคตะวันออก

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการตามแผนบริหารจัดการไม้ผลภาคตะวันออก ปี 2566 ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ และเน้นย้ำให้หน่วยงานในพื้นที่วางแผนการบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง เพื่อความเหมาะสมของแต่ละจังหวัด และแต่ละชนิดพืช

%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99338493731 739362484353715 6940886530302046009 n 1
คุมเข้มคุณภาพไม้ผลภาคตะวันออก

 

 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สถานการณ์ไม้ผลภาคตะวันออกในภาพรวม ปี 2566 (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มกราคม 2566) พบว่า ผลผลิตไม้ผลทุกชนิดมีปริมาณลดลง ยกเว้นทุเรียนที่มีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นทั้ง 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ จังหวัดจันทบุรี ตราด และจังหวัดระยอง เนื่องจากมีเนื้อที่ให้ผลผลิตทุเรียนในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 4.85 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เกษตรกรผู้ปลูกมังคุด เงาะ และลองกอง ตัดสินใจโค่นต้นทิ้งและปรับเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกทุเรียนแทนจากปัจจัยราคาทุเรียนที่ดีอย่างต่อเนื่องหลายปี ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกชุกต่อเนื่อง รวมทั้งเกษตรกรยังมีการบำรุงดูแลทุเรียนและไม้ผลอื่นที่ให้ราคาดีเป็นอย่างดี

                     

%E0%B8%AD338053354 775266417356926 4982823510945404688 n 1
คุมเข้มคุณภาพไม้ผลภาคตะวันออก

สำหรับทุเรียน คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตปี 2566 คาดว่าจะมีผลผลิต 756,465 ตัน เพิ่มขึ้น  24,135 ตัน หรือร้อยละ 3.30 เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2565 และจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุดในเดือนเมษายน 2566 โดยได้มีการกำหนดมาตรการควบคุมคุณภาพทุเรียนภาคตะวันออก ปี 2566 ดังนี้

1) การประกาศกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนตามสายพันธุ์ คือ ทุเรียนพันธุ์กระดุมและพวงมณี ในวันที่ 10 มีนาคม 2566 ทุเรียนพันธุ์ชะนี ในวันที่ 20 มีนาคม 2566 และทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ในวันที่ 15 เมษายน 2566

2) มาตรการควบคุมและป้องกันแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ ด้วยการกำกับการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์เนื้อในน้ำหนักแห้ง โดยพันธุ์กระดุมต้องมีค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนไม่น้อยกว่า 27 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง พันธุ์ชะนีและพวงมณี ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง และพันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32 เปอร์เซ็นต์น้ำหนัก ซึ่งหากเจอเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งต่ำกว่านี้ ถือว่าเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน)

                   

ทั้งนี้ หากเกษตรกรมีความประสงค์จะเก็บเกี่ยวก่อนวันประกาศฯ ต้องนำตัวอย่างผลทุเรียนมาให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร หรือผู้ที่รับมอบหมายในพื้นที่ เช่น กลุ่มแปลงใหญ่ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นฯ ทำการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์เนื้อในน้ำหนักแห้งเพื่อออกใบรับรองความแก่สำหรับแนบไปกับรถขนส่งทุเรียนที่ไปจำหน่าย ณ ที่ล้ง/โรงคัดบรรจุ นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งชุดเฉพาะกิจช่วยกันสกัดกั้นทุเรียนอ่อน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการส่งทุเรียนไม่มีคุณภาพออกสู่ตลาดด้วย ซึ่งหากเกษตรกรไม่มีหนังสือรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนและมีการตรวจพบทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ทั้งในรถบรรทุก ในแผงรับซื้อและในล้ง ทางจังหวัดจันทบุรี ตราด และจังหวัดระยอง จะใช้มาตรการทั้งทางการปกครองและทางกฎหมาย เพื่อดำเนินการลงโทษกับผู้กระทำผิดต่อไป

                   

สำหรับมังคุด คาดการณ์จะมีผลผลิตในปี 2566 จำนวน184,632 ตัน ลดลง 3,921 ตัน หรือร้อยละ -2.08 เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2565 และจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุดในเดือนเมษายน 2566 เงาะ คาดการณ์จะมีผลผลิตในปี 2566 จำนวน 102,292 ตัน ลดลง 2,227 ตัน หรือร้อยละ -2.41 เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2565 และจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุดในเดือนพฤษภาคม 2566 ส่วนลองกอง คาดการณ์จะมีผลผลิตในปี 2566 จำนวน 202,204 ตัน ลดลง 14,216 ตัน หรือร้อยละ -6.57 เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2565 และจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุดในเดือนกรกฎาคม 2566

                         

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า จะเห็นได้ว่า สถานการณ์ไม้ผลภาคตะวันออกภาพรวมในปีนี้ ค่อนข้างจะไม่เป็นที่น่ากังวล มีเพียงทุเรียนที่คาดว่าจะมีผลผลิตมากขึ้น ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ประสานงานอำนวยความสะดวก และร่วมปฏิบัติภารกิจในการดูแลภาพรวมการบริหารจัดการไม้ผลภาคตะวันออกอย่างใกล้ชิดร่วมกับจังหวัดจันทบุรี ตราด และจังหวัดระยอง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ตามแผนที่วางไว้