เช็ก..ก.เกษตรฯเร่งสำรวจพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกร “ชาวสวนผลไม้”หลังได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน

จากกรณีเมื่อช่วงวันที่ 28-29 มี.ค. 66 ที่ผ่านมา ได้เกิดพายุฤดูร้อนมีฝนตกลมกรรโชกแรงในพื้นที่หลายจังหวัด ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย ทำให้ต้นไม้โค่นล้ม ผลผลิตร่วงหล่นซึ่งขณะนี้ผลไม้ภาคตะวันออกหลายชนิดใกล้จะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ส่วนภาคเหนือมีทั้งลำไยและลิ้นจี่

ความเสียหายที่เกิดขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ เร่งสำรวจความเสียหาย ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในเบื้องต้นทันที

930738 767x1024 2
ก.เกษตรฯเร่งช่วยเหลือชาวสวนผลไม้ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน

สำหรับผลผลิต “ทุเรียนที่ร่วงหล่น” ในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนนั้น สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ได้แจ้งประชาสัมพันธ์ว่าในหลายพื้นที่มีผู้ประกอบการ เช่น โรงงานแปรรูป โรงงานไอศกรีม และห้องเย็น มีความประสงค์จะ “รับซื้อผลผลิตร่วงหล่น”ดังกล่าว แต่ขอให้เกษตรกรดำเนินการ “ทำตำหนิโดยการพ่นสีน้ำเงินที่ผลทุเรียน” ที่โดนลมพายุร่วงหล่น หรือ “ห้ามตัดขั้วก่อนนำส่งโรงงาน” นอกจากนี้ส่วนที่เหลือเกษตรกรสามารถนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ต่อได้

ทั้งนี้ กรณีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายสิ้นเชิง และเป็นเกษตรกรที่ “ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย” จะได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564

โดยจะได้รับความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น : ข้าวไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเมื่อวานนี้ ( 5 เม.ย. 66 ) เตือนเรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 3 (93/2566)(มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 6 – 9 เมษายน 2566) โดยระบุว่าในช่วงวันที่ 6 – 9 เมษายน 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยจะมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง

รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มมีผลกระทบในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกก่อน ส่วนภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคเหนือจะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย