“พาณิชย์”ปิดจ๊อบ เคาะส่วนต่างประกันรายได้ข้าว งวดที่ 33 งวดสุดท้าย จ่ายชดเชยแค่ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ อีก 3 ชนิดราคาทะลุเพดาน ข้าวเปลือกหอมมะลิ จบฤดูกาล เผยเบ็ดเสร็จ จ่ายเงินส่วนต่างไปกว่า 7.8 พันล้าน คิดเป็น 42.90% ของงบประมาณที่ได้ เหลือเงินคืนหลวงกว่า 1 หมื่นล้านบาท
นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้พิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 โดยสัปดาห์นี้ เป็นการประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงงวดสุดท้าย งวดที่ 33 สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 20 พ.ค.-31 ก.ค.2566 โดยมีการจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 1 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ส่วนข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว ไม่ต้องจ่าย เพราะราคาสูงกว่าเป้าหมาย และข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่มีราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง เนื่องจากสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว
โดยงวดที่ 33 ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เกณฑ์กลางตันละ 13,671.28 บาท ชดเชยตันละ 328.72 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 5,259.52 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี เกณฑ์กลางตันละ 11,252.18 บาท สูงกว่าประกันรายได้ที่ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า เกณฑ์กลางตันละ 10,216.69 บาท สูงกว่าประกันรายได้ที่ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว เกณฑ์กลางตันละ 12,734.33 บาท สูงกว่าประกันรายได้ที่ตันละ 12,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่มีการคำนวณส่วนต่าง เพราะสิ้นสุดฤดูกาล
ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงภายใน 3 วันทำการ หรือภายในวันที่ 31 พ.ค.2566 โดยมีเกษตรกรได้รับชดเชย 2,221 ครัวเรือน
นายอุดมกล่าวว่า สำหรับการจ่ายเงินชดเชยตั้งแต่งวดที่ 1-32 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรได้รับเงินส่วนต่างประกันรายได้แล้วกว่า 2.636 ล้านครัวเรือน วงเงิน 7,867.02 ล้านบาท คิดเป็น 42.90% จากวงเงินประกันรายได้ที่ได้รับการอนุมัติ 18,337.50 ล้านบาท หากรวมเงินที่จ่ายชดเชยงวดที่ 33 อีกไม่มาก เหลือเงินคืนรัฐบาลกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าประกันรายได้ข้าวปีที่ 4 นี้ ประสบผลสำเร็จและใช้เงินเพียงเล็กน้อย ช่วยให้ประหยัดงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการได้มาก
ส่วนสถานการณ์การซื้อขายข้าวในตลาดช่วงนี้ ผู้แทนสมาคมโรงสีข้าวไทย และผู้แทนสมาคมค้าข้าวไทย ให้ข้อมูลว่า ผู้ส่งออกมีความต้องการข้าวเจ้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศอิรัก และอินโดนีเซีย สำหรับสถานการณ์การส่งออก ผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศให้ข้อมูลว่า ปริมาณการส่งออกจนถึงวันที่ 24 พ.ค.2566 สามารถส่งออกข้าวได้แล้วกว่า 3.27 ล้านตัน และน่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดภัยแล้ง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตในหลายประเทศลดลง ทำให้มีความต้องการข้าวเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ผู้แทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ราคาข้าวในภาพรวมค่อนข้างทรงตัว มีขยับขึ้นลงบ้างตามค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงเล็กน้อย สถานการณ์การส่งออกของไทยเป็นไปได้ด้วยดี เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องในทุกชนิดข้าว ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว คาดการณ์ว่าในปีนี้มีโอกาสที่จะส่งออกข้าวได้มากกว่าปีที่แล้ว โดยคาดว่าจะส่งออกได้ถึง 8 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้ขอความร่วมมือเกษตรกร โรงสี ผู้ค้า และหน่วยงานในพื้นที่ กำกับดูแลและเพิ่มการตรวจสอบ ระมัดระวังไม่ให้เกิดการปลอมปนข้าว เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพข้าว และการส่งออกข้าวได้ รวมทั้งยังได้เพิ่มการติดตามดูแลการซื้อขายข้าวเปลือก ทั้งในเรื่องของการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความชื้น ซึ่งหากพบเห็นว่าท่าข้าวหรือโรงสีใด ไม่ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ กดราคารับซื้อ โกงน้ำหนัก หรือมีพฤติกรรมใด ๆ ที่เป็นการเอาเปรียบชาวนา สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน โทร 1569