‘สับปะรดปัตตาเวีย’ จ.อุตรดิตถ์ ผลผลิตรวม 3.9 หมื่นตัน ออกตลาดแล้ว ปีนี้ราคาดี

นายประเสริฐศักดิ์ แสงสัทธา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตสับปะรดปัตตาเวียของจังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2566 หรือในพื้นที่นิยมเรียกว่า “สับปะรดห้วยมุ่น” โดย สศท.2 ลงพื้นที่สำรวจ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ สำนักงานเกษตรอำเภอน้ำปาด และสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านโคก พบว่า จังหวัดอุตรดิตถ์ มีเนื้อที่ปลูกสับปะรดปัตตาเวียเป็นอันดับที่ 5 ของภาคเหนือ รองจากจังหวัดพิษณุโลก เชียงราย ลำปาง และอุทัยธานี ซึ่งแหล่งผลิตสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์อยู่ที่หมู่ที่ 1 บ้านห้วยโป่ง หมู่ที่ 2 บ้านห้วยมุ่น ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด และหมู่ที่ 1 บ้านนาผักฮาด ตำบลน้ำไผ่ อำเภอบ้านโคก ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2556 ทั้งนี้ สับปะรดห้วยมุ่น คือ พันธุ์ปัตตาเวีย ที่นำมาปลูกในตำบลห้วยมุ่นจนกลายเป็นพันธุ์ท้องถิ่น ซึ่งมีลักษณะเด่นแตกต่างจากพันธุ์ดั้งเดิม โดยเฉพาะรสชาติหวานอร่อย ตาไม่ลึก ทำให้มีส่วนของเนื้อมากผลค่อนข้างเล็ก รับประทานแล้วไม่ระคายคอ

%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%9A 5
‘สับปะรดปัตตาเวีย’ จ.อุตรดิตถ์

สำหรับปี 2566 นับเป็นช่วงปลายของการเกิดปรากฏการณ์ลานีญ่าเตรียมเข้าสู่ปรากฎการณ์เอลนีโญ่ที่สถานการณ์ภัยแล้งอาจส่งผลกระทบต่อภาวะการผลิตสับปะรดปัตตาเวีย ปี 2566 จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยคาดการณ์ว่า จะมีเนื้อที่ปลูก 19,366 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 17,425 ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.14) เนื่องจากการคลี่คลายของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 การขนส่งตลาดทั้งในและต่างประเทศเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ เกษตรกรจึงขยายพื้นที่ปลูก ขณะที่เนื้อที่เก็บเกี่ยว มีจำนวน 10,774 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 17,381 ไร่ (ลดลงร้อยละ 38.01) เนื่องจากมีเนื้อเสียหายมากถึง 10,774 ไร่ จากสถานการณ์ภัยแล้งฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2566 ทำให้ลำต้นและใบเหลืองแห้ง มีผลหักคาต้น เกษตรกรต้องปล่อยทิ้ง ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในทุกแหล่งผลิต

%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%94
‘สับปะรดปัตตาเวีย’ จ.อุตรดิตถ์

ด้านปริมาณผลผลิตรวม มีจำนวน 39,594 ตัน ลดลงจากปี 2565 ที่มีจำนวน 65,700 ตัน (ลดลงร้อยละ 39.73) และผลผลิตต่อไร่ 3,675 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 3,780 กิโลกรัม/ไร่ (ลดลงร้อยละ 2.78) เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ ผลแคระแกร็นไม่ขยายขนาดเพิ่ม ทั้งนี้ ผลผลิตสับปะรดปัตตาเวีย ของจังหวัดอุตรดิตถ์ จะออกสู่ตลาด 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงกลางปี (เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566) โดยออกมากในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2566 ประมาณ 29,696 ตัน หรือร้อยละ 75 ของผลผลิตทั้งหมด และช่วงปลายปี (เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2566) ประมาณ 9,898 ตัน หรือร้อยละ 25 ของผลผลิตทั้งหมด

%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%94 1
‘สับปะรดปัตตาเวีย’ จ.อุตรดิตถ์

ราคาสับปะรดปัตตาเวียของจังหวัดอุตรดิตถ์ ณ ไร่นา (ราคา วันที่ 1 มิถุนายน 2566) จำหน่ายแบ่งตามเกรด ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของผลผลิต โดยแบ่งเป็น สับปะรดบริโภคสดขนาดใหญ่ (น้ำหนัก 1.5 – 2.5 กิโลกรัมขึ้นไป) เกรดพรีเมียม(เนื้อหนึ่ง) รวมจุก ราคาอยู่ที่ 15 – 18 บาท/กิโลกรัม และเกรดพรีเมียม (เนื้อสอง) รวมจุก ราคาอยู่ที่ 10 บาท/กิโลกรัม ส่วนสับปะรดป้อนโรงงาน ขนาดใหญ่ (หักจุกน้ำหนักผลอยู่ระหว่าง 1.2 – 1.5 กิโลกรัม) ราคาอยู่ที่ 8 บาท/กิโลกรัม และขนาดเล็ก (น้ำหนักน้อยกว่า 1.2 กิโลกรัม) อยู่ที่ 2.5-3 บาท/กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ราคาสับปะรดปัตตาเวียปีนี้ค่อนข้างดี เนื่องจากผลผลิตในพื้นที่มีจำนวนน้อย ในขณะที่ปริมาณความต้องการของตลาดเพิ่มสูงขึ้น ด้านการตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 60 จำหน่ายเป็นสับปะรดบริโภคผลสด และอีกร้อยละ 40 เกษตรกรขายผลผลิตเข้าโรงงานแปรรูป

%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%94 2
‘สับปะรดปัตตาเวีย’ จ.อุตรดิตถ์

ทั้งนี้ การพัฒนาการผลิตและการตลาดสับปะรดในบริบทของจังหวัดอุตรดิตถ์เพื่อสร้างความยั่งยืน มีหลายประการ อาทิ การเพิ่มสัดส่วนการผลิตสับปะรดคุณภาพ หรือได้รับรองมาตรฐานการผลิตเพื่อบริโภคสดให้มากขึ้น การชูตราสินค้า GI และฉายภาพความโดดเด่นของสับปะรด การประสานผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิตร่วมจัดทำแผนการตลาดรายเดือนที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งข้อเสนอแนะเหล่านี้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการสับปะรดของคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ นอกจากนี้ ควรเร่งผลักดันการขับเคลื่อนแผนพัฒนาด้านสับปะรด พ.ศ. 2566 – 2570 สู่การปฏิบัติ ให้บรรลุเป้าหมายในเชิงประจักษ์ โดยเฉพาะด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งที่เกี่ยวข้องกับระบบน้ำ ระบบมาตรฐานรับรองการผลิต GAP และปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกโดยยึด Agri-Map และการประสานหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการ/โครงการ ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดให้เพิ่มขึ้นเป็น 422,070 บาท/ปี ในปี 2570 ซึ่งจะช่วยให้บรรลุวิสัยทัศน์ของแผนตามที่กำหนด หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตสับปะรดปัตตาเวียของจังหวัดอุตรดิตถ์ปี 66 สามารถสอบถามได้ที่ สศท.2 โทร. 05 532 2658 หรือ อีเมล [email protected]