กระทรวงเกษตรฯ เผยความสำเร็จเปิดตลาดมังคุดไทยสู่ตลาดญี่ปุ่นแบบใหม่โดยไม่ต้องอบไอน้ำ

%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2 17
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความสำเร็จของการเปิดตลาดมังคุดไทยสู่ตลาดญี่ปุ่นแบบใหม่โดยไม่ต้องอบไอน้ำ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า การส่งออกมังคุดไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นนั้นที่ผ่านมา ญี่ปุ่นอนุญาตให้นำเข้ามังคุดผลสดจากประเทศไทยแต่จะต้องผ่านกระบวนการอบไอน้ำ (VHT) เพื่อเป็นการกำจัดแมลงวันผลไม้ก่อนการส่งออก ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้เสนอมาตรการการส่งออกแบบใหม่โดยไม่ต้องอบไอน้ำ ซึ่งล่าสุดฝ่ายไทยได้เห็นชอบต่อร่างเงื่อนไขแล้ว ปัจจุบัน อยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการภายในประเทศของกระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่น (Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries: MAFF) เช่น การเปิดรับฟังข้อคิดเห็น (Public Hearing) การแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้เงื่อนไขใหม่อย่างเป็นทางการ คาดว่าจะสามารถใช้มาตรการใหม่ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2566ซึ่งกรมวิชาการเกษตรและสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว ได้เจรจาเร่งรัดขั้นตอนอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ทันกับมังคุดฤดูกาลนี้ (เดิมขั้นตอนจะเสร็จสิ้นในเดือนกันยายน 2566)

%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2 1 4
มังคุดไทยในตลาดญี่ปุ่น

มาตรการการส่งออกมังคุดผลสดจากประเทศไทยไปญี่ปุ่นแบบใหม่โดยไม่ต้องอบไอน้ำ จะช่วยลดต้นทุนการส่งออก
ของผู้ประกอบการ ยืดอายุ (Shelf life)ของผลมังคุดสด สามารถขนส่งทางเรือได้อีกช่องทางหนึ่งนอกเหนือจากการขนส่งทางเครื่องบิน จะสามารถเอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการให้ส่งออกมังคุดได้มากขึ้นราคาวางจำหน่าย ณ ร้านค้าปลีกถูกลง และอาจได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้นด้วย

%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2 2 3
มังคุดไทยในตลาดญี่ปุ่น

ในปี 2565 ญี่ปุ่นนำเข้ามังคุดผลสดจากประเทศไทย 82.4 ตัน คิดเป็นมูลค่า 13.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 33.9 และร้อยละ 4.8 ตามลำดับ การนำเข้าในช่วงสถานการณ์การระบาด COVID-19 ได้รับผลกระทบในช่วงแรกเนื่องจากการขนส่งมังคุดใช้วิธีการขนส่งทางเครื่องบินเป็นหลัก จำนวนเที่ยวบินที่ลดลงและค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอุปสรรคต่อการนำเข้ามังคุดจากประเทศไทย อย่างไรก็ตาม จากสถิติการนำเข้าพบว่ามีแนวโน้มการบริโภคในประเทศญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวและคาดว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม – เมษายน 2566) พบว่าญี่ปุ่นนำเข้ามังคุดจากไทยแล้ว จำนวน 26,170 กิโลกรัม มูลค่า 5,009,503 บาท

ทั้งนี้ นับเป็นการตอกย้ำความสำเร็จในการเยือนประเทศญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนมกราคม 2566 ของ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเดินทางไปติดตามความคืบหน้าการเปิดตลาดกับกระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่น พร้อมพบปะผู้ประกอบการเพื่อเดินหน้ากระตุ้นการส่งออกขยายตลาดผลไม้ไทยในประเทศญี่ปุ่น

กระทรวงเกษตรฯ มุ่งมั่นสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรไทยอย่างจริงจังและยั่งยืนโดยเชื่อมโยง 5 ยุทธศาสตร์ 15 นโยบายมาสู่แผนการดำเนินงานที่มีความก้าวหน้า สร้างการพัฒนาสู่ภาคเกษตรอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม มุ่งหวังสร้างรายได้และความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรที่ถือเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ สู่การยกระดับมาตรฐาน
การผลิตสินค้าเกษตรให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลกด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ภาครัฐจะสนับสนุนทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และประชาชนเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า ตลอดจนสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกด้วย รมว.เกษตรฯ กล่าว

%E0%B8%AA%E0%B8%A8%E0%B8%81 4
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการ สศก.

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเสริมว่า การส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยังคงแข็งแกร่งและเติบโตได้ดีซึ่งเมื่อดูทิศทางการส่งออกย้อนหลัง 3 ปี เห็นได้ว่า ปี 2563 ไทยส่งออกไปโลกเป็นมูลค่า 1,193,161 ล้านบาทและไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2564 และ 2565 เป็น 1,404,652 ล้านบาท และ 1,679,778 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละ 1,425,864 ล้านบาท ซึ่งถือได้ว่ามีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 18.65 ต่อปีซึ่งการผลักดันการส่งออก ทุกหน่วยงานได้ร่วมกันขับเคลื่อน ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อเนื่อง

คือ1) ตลาดนำการผลิต 2) เทคโนโลยีเกษตร 4.0 3) “3 S” เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคงและเกษตรยั่งยืน 4) เกษตรกรรมยั่งยืน และ 5) บูรณาการทำงานเชิงรุกกับทุกภาคส่วนส่งผลให้สินค้าเกษตรไทยยังเป็นที่ต้องการของหลายๆ ตลาด และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับเกษตรกรไทยมีการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐานตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ เน้นการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดสอดรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก ให้ความสำคัญกับการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การควบคุมคุณภาพมาตรฐาน และการขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้อย่างต่อเนื่องและมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรมากขึ้น อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการค้าให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป