ข้าวสังข์หยด ของดีเมืองพัทลุง

ประวัติพันธุ์

เมืองพัทลุงเมืองเก่าแก่แดนอู่ข้าวใหญ่ภาคใต้ของไทยเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ดินฟ้าอากาศ แหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสําหรับการปลูกข้าวบนที่ราบระหว่างเขาหินลูกโดน มีนิทานเล่าขานเป็นตํานานเมืองผู้มาเยือนเมืองพัทลุงจะมองเห็นนาข้าวกว้างไกลสุดสายตาช่วงต้นฤดูทํานาท้องนาจะเขียวขจีผืนนาเดียวกันจะกลายเป็นทุ่งรวงทองเมื่อข้าวใกล้เก็บเกี่ยวในเดือนมกราคม และ กุมภาพันธ์

1512876463 1.png 550x415 1
ข้าวสังข์หยด ของดีเมืองพัทลุง

เมืองพัทลุงนิยมปลูกและบริโภคข้าวหนักมากกว่าข้าวเบา คนพัทลุงส่วนมากไม่รับประทานข้าวเบาแต่จะเก็บข้าวเบานี้ไว้ในโอกาสพิเศษ ข้าวสังข์หยดเป็นข้าวเจ้าพันธุ์พื้นเมืองพันธุ์เบา ปลูกกันมานานมากกว่า 100 ปี ผลผลิตจะเก็บไว้เพื่อเป็นกํานัลแก่ผู้ใหญ่ที่นับถือใช้หุงต้มเป็นอาหารเพื่อเลี้ยงแขกพิเศษในงานบุญแขกบ้านแขกเมืองหรือเจ้านายผู้ปกครองบ้านเมือง หรือใช้ในงานวันประเพณี มีประเพณีถือปฏิบัติโดยการนับถือแม่โพสพซึ่งถือเป็นเทพีประจําข้าว ต้องทําพิธี “ขวัญแม่โพสพ” หรือ ทําขวัญข้าว เรียกรวบข้าว การทําขวัญแม่โพสพจะมีบทสวดที่มีรายชื่อข้าวพันธ์ต่างๆ ซึ่งข้าวพันธุ์สังข์หยดก็มีรายชื่ออยู่ในบทสวดเช่นกัน โดยพิธีการทําขวัญแม่โพสพทําอีกครั้งเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเข้ายุ้งฉางอีกครั้ง หรือไปทํารวมกันที่วัดเรียกว่า ” ทําขวัญข้าวใหม่ “

ลักษณะประจำพันธุ์

ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ( Sangyod Maung Phatthalung Rice ) หมายถึงข้าวเจ้าพันธุ์สังข์หยด เป็นข้าวเจ้าพื้นเมืองพันธ์เบา ข้าวนาสวนไวต่อช่วงแสง ปลูกฤดูนาปีในเขตพื้นที่จังหวัดพัทลุง ข้าวเปลือกมีเปลือกสีฟาง ข้าวกล้องมีสีแดงจนถึงแดงเข้มในเมล็ดเดียวกัน  ข้าวสารเป็นข้าวที่มีเมล็ดสีขาวปนแดงหรือสีชมพู รูปร่างเรียวเล็ก

ความสัมพันธ์กับแหล่งภูมิศาสตร์

ลักษณะภูมิประเทศ จังหวัดพัทลุง ตั้งอยู่ตอนต้นของทะเลสาบสงขลา ระหว่างเทือกเขาทางทิศตะวันตกกับทะเลสาบทิศตะวันออกเป็นแนวยาวเหนือใต้ มีพื้นที่ 3,424.47 ตารางกิโลเมตรหรือ 2,140,296 ไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 1,403,766 ไร่ พื้นที่ปลูกข้าว 469,657 ไร่ มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่สําหรับการเกษตร คือ ทะเลสาบสงขลา ได้รับอิทธิพลจากกระแสลมมรสุมที่พัดผ่านอ่าวไทย ทําให้เกิดฤดูกาลตามสภาวะอากาศของภาคใต้ โดยฤดูฝนจะมีฝนตกชุกอาจทิ้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ข้าวในนาจะเหลืองเป็นทุ่งรวงทองพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว

ลักษณะของพื้นที่ มีสภาพพื้นที่ราบกว้างทิวเขาสูงด้านตะวันตกซึ่งเป็นแนวเขาบรรทัด และแผ่นน้ำทะเลสาบสงขลาด้านตะวันออกบริเวณเหล่านี้มีภูมิประเทศเป็นที่ราบต่ำ ราบลุ่มน้ำท่วมถึงซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนลําน้ำ ในบริเวณที่ลุ่มฝั่งน้ำ รวมถึงบริเวณสันดินริมน้ำซึ่งเกิดจากลําน้ำพัดพาตะกอนมาทับถมริมฝั่งในระหว่างหน้าน้ำหลาก

คุณค่าทางโภชนาการ

-มีวิตามินบีสูง วิตามินบี1 ช่วยป้องกันโรคเหน็บชาและโรคอัมพฤกได้ วิตามินบี2 ช่วยในการป้องกันโรคปากนกกระจอก

-มีปริมาณสังกะสีสูงที่สุด และให้พลังงานต่ำที่สุด

-สารสีแดงเป็นรงควัตถุประเภทฟลาโวนอยด์ชนิดมีสารแอนโทไซยานินอยู่ในเยื่อชั้นนอกของข้าวมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระได้ดี ชะลอความชรา และลดความเสี่ยงการเป็นโรคต่างๆ เช่น ป้องกันโรคหัวใจ และโรคระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ

-สารต้านอนุมูลอิสระ พวก oryzanol เป็นกลุ่มวิตามินอี ในกลุ่มโทโคฟีรอล กลุ่มโทโคไตรอีนอลและสารแกมมา-โอริซานอล(Gamma Oryzanol) เป็นสารที่พบในเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวเท่านั้น ช่วยชะลอความชรา

-สาร Gamma Amino Butyric Acid (GABA) ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง

-มีฤทธิ์ในการลดระดับคอเลสเตอรอลตัวที่เลว LDL และเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลตัวที่ดี HDL ในเลือดและไตรกลีเซอไรด์ ทำให้ลดการตีบตันของหลอดเลือด เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต

-มีสารไนอะซินสูง ช่วยในเรื่องของระบบประสาทและผิวหนัง

-มีสารแคลเซียมและฟอสฟอรัส ช่วยในการป้องกันโรคกระดูกเสื่อม

-มีฤทธิ์ในการลดความเครียด

-รักษาอาการผิดปกติของสตรีวัยทอง
 

ได้รับการรับรอง ข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2549