จันทบุรี นำร่องอาหารเป็นยา จัดมหกรรม “เลิศรสจันท์ อาหารเป็นยา” ส่งเสริมใช้ “สมุนไพร” นำครัวไทยสู่ครัวโลก

รมช.สาธารณสุข เปิดงานมหกรรม เลิศรสจันท์อาหารเป็นยา ให้จังหวัดจันทบุรี นำร่อง"โครงการอาหารเป็นยา" ส่งเสริมการใช้ "สมุนไพร" พื้นบ้านไทยในอาหาร เครื่องดื่ม สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจให้กับคนในพื้นที่นำครัวไทยสู่ครัวโลก โดยนำ "สมุนไพร"ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดมาประกอบเป็นอาหารให้สอดคล้องกับองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-15 มิ.ย.นี้ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล จันทบุรี

วันที่ 11 มิถุนายน 2565 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล จันทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดมหกรรม “เลิศรสจันท์ อาหารเป็นยา” ภายใต้แนวคิด อาหารเป็นยาวิถีคนจันท์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของ “สมุนไพร” ไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล

capture 20220611 190118 1
ส่งเสริมการใช้สมุนไพร

โดย ดร.สาธิต กล่าวว่า จากรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของคนไทย ในปี 2560 – 2564 ในระบบข้อมูล Health for you ของกรมอนามัย พบคนไทยเกินครึ่งกินผักไม่เพียงพอ ส่วนการกินน้ำตาล และไขมันมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นำไปสูการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดทำโครงการ “อาหารเป็นยา” เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และสร้างกระแสให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการบริโภคอาหารเป็นยา

ซึ่งอาหารไทยมีองค์ประกอบของ “สมุนไพรไทยพื้นบ้าน”หลายชนิดที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีประโยชน์ในการช่วยส่งเสริมดูแลสุขภาพ เช่น กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ขับลม แก้ร้อนใน กระหายน้ำ บำรุงธาตุขับเสมหะ แก้ไอ เป็นต้น ที่สำคัญคือ ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไม่เรื้อรัง ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพอันดับต้นๆในระดับโลกที่สามารถป้องกันและแก้ไขได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่สมดุล

นอกจากนี้ การส่งเสริมการปลูก “สมุนไพร” ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เกิดความเชื่อมั่นในการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการบริโภคอาหารให้เป็นยาตามวิถีธรรมชาติที่เหมาะสม สามารถสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ นำครัวไทยสู่ครัวโลก ซึ่งหลังจากสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย “ตลาดสมุนไพร” ได้กลับมาขยายตัว โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทำให้มูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 4.56 หมื่นล้านบาท และยังมีโอกาสเติบโตในอนาคตสูงโดยเฉพาะกลุ่มอาหารแปรรูป เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการอาหารที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย“อาหารเป็นยา” จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ประชาชนให้ความสนใจและกำลังเป็นที่นิยมอย่างยิ่ง

ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า จ.จันทบุรี เป็น 1 ใน 14 จังหวัดเมืองสมุนไพรของประเทศ (อำนาจเจริญ, สุรินทร์, มหาสารคาม, อุทัยธานี, สกลนคร,นครปฐม, สระบุรี, ปราจีนบุรี, จันทบุรี, เชียงราย, พิษณุโลก, อุดรธานี, สุราษฎร์ธานี, สงขลา) มีการปลูกพืชสมุนไพรจำหน่ายเป็นรายได้ และมีการส่งเสริมการใช้สมุนไพรอย่างครบวงจร ได้ให้นำร่องจัดงานมหกรรม “อาหารเป็นยา” เป็นแห่งแรก ภายใต้ชื่อ มหกรรม “เลิศรสจันท์ อาหารเป็นยา”

โดยนำเสนอ “สมุนไพร” ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด ได้แก่ พริกไทย, กระวาน,เร่ว, ชะมวง, มะปี๊ด, สำรอง, มังคุด, ระกำ, ทุเรียน, ลำไย, และกัญชา ประกอบเป็นอาหารให้สอดคล้องกับองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย และยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ เสวนาวิชาการ, บรรยายและสาธิตการปรุงอาหารสมุนไพรโดยเชฟชื่อดัง, การแข่งขันหนูน้อยนักปรุง, บูธวิชาการ, จำหน่ายสินค้าอาหารเป็นยาวิถีคนจันท์ และการสาธิตชุดความรู้อาหารเป็นยาวิถีคนจันท์ โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่9 – 15 มิถุนายน 2565 ที่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล จันทบุรี

“กระทรวงสาธารณสุขจะขับเคลื่อนโครงการ “อาหารเป็นยา” ไปยังทุกเขตสุขภาพและทุกจังหวัด เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนได้บริโภคอาหารที่ดีมีสมุนไพรไทยเป็นส่วนประกอบ ทั้งยังจะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ เกิดการยกระดับอาหารไทยเป็นเมนูสุขภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มของอาหารแก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศตามมา” ดร.สาธิต กล่าว