ปัจจุบันการ “ปลูกโกโก้” เกษตรกรส่วนใหญ่จะทำสัญญาซื้อขายผลผลิตกับบริษัทแปรรูปซึ่งจะมีราคาประกันขั้นต่ำโดยบริษัทแปรรูปจะส่งเสริมการปลูก และเป็นลักษณะเกษตรพันธสัญญา (contract farming) เมื่อซื้อต้นพันธุ์แล้วจะรับซื้อผลผลิต ราคาที่รับซื้ออ้างอิงราคาตลาดโลก แต่ขณะเดียวกันเกิดกรณีการตั้งบริษัทหลอกขายต้นพันธุ์โกโก้ โดยไม่ทำตามสัญญารับซื้อ จนทำให้เกิดปัญหาเกษตรกรไม่มีที่ขาย ล้นตลาด
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มอบนโยบายสถาบันวิจัยพืชสวน ให้แนวทางแก่เกษตรกรในการพัฒนาการผลิตโกโก้ให้ยั่งยืนต้องมีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมของกรมวิชาการเกษตรมาใช้ในการผลิต ซึ่งมี 2 กิจกรรม ได้แก่ การพัฒนาพันธุ์โกโก้ และการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโกโก้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาพันธุ์โกโก้ที่ให้ผลผลิตสูงและเหมาะสำหรับทำแปรรูปเป็นช็อกโกแลต และศึกษาระบบปลูกโกโก้ได้ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ระหว่างปี 2560-2564 ผลการศึกษา พบว่าโกโก้ที่ให้ผลผลิตสูงสุด ได้แก่ พันธุ์ในกลุ่มตรินิแตริโอ และ“พันธุ์ชุมพร 1” ให้ผลผลิตเมล็ดแห้งเฉลี่ย 250 และ 232 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปีตามลำดับ ซึ่งพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงกำลังอยู่ในระหว่างการเสนอขอขึ้นทะเบียนพันธุ์แนะนำ ส่วนการปลูกโกโก้แบบพืชเดี่ยวและพืชร่วมพบว่า “พันธุ์ชุมพร 1” สามารถให้ผลผลิตเมล็ดแห้งสูงในการปลูกพืชทั้งสองระบบ
“โกโก้” เป็นพืชที่ชอบอากาศค่อนข้างชุ่มชื้นในช่วงฤดูแล้ง ถ้าฝนทิ้งช่วงนานกว่า 3 เดือน จำเป็นต้องให้น้ำช่วยการใช้เศษวัชพืชคลุมโคนและใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักรอบโคน โดยขุดเป็นร่องรอบทรงพุ่ม ช่วงปลายฤดูฝนจะช่วยลดการให้น้ำช่วงฤดูร้อนได้ และ“แบบพืชเดี่ยว” เป็นการปลูกแบบกลางแจ้ง ต้องมีการทำร่มเงาชั่วคราวให้กับต้นกล้าโกโก้ในช่วงปีแรก เมื่อโกโก้อายุ 2 ปีขึ้นไปจะมีทรงพุ่มใหญ่และสามารถเป็นร่มเงาให้ต้นโกโก้ที่อยู่ใกล้เคียงกันได้แต่มีข้อควรระวัง คือ ในช่วงแรกที่ปลูกต้องทำร่มเงาชั่วคราวให้ต้นโกโก้ ควรระวังใบโกโก้ไหม้เนื่องจากแดดจัดอาจทำให้โกโก้ตายได้
ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร ขอแนะนำก่อนที่เกษตรกรจะตัดสินใจปลูกโกโก้ต้องมั่นใจในตลาดว่าปลูกแล้วจะมีผู้รับซื้อ และควรรวมกลุ่มผลิตเพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตที่คุ้มค่าต่อการรวบรวมและขนส่งไปสู่โรงบ่มหมักหรือโรงงานแปรรูปก่อนตัดสินใจปลูกขอให้ศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วน “ใช้ตลาดนำการผลิต” รวมกลุ่มกันผลิตและแปรรูปเอง อย่าตัดสินใจปลูกเพียงเพราะคำชักจูงจากผู้ขายพันธุ์เท่านั้น
เมื่อปลูกแล้ว เกษตรกรควรรวมกลุ่มการผลิตโดยขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนประกอบธุรกิจ หรือกลุ่มสหกรณ์ ซึ่งจะง่ายต่อการขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการต่อยอดเครื่องมือ อุปกรณ์ในการแปรรูป ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ อีกด้านถือเป็นโอกาสเนื่องจากประเทศไทยยังพึ่งพาผลผลิตโกโก้จากต่างประเทศเป็นหลัก มีการปลูก และมีโรงงานแปรรูปน้อย จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาเพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเอง อย่างความมั่นคง และยั่งยืน ต่อไปได้