การยาสูบแห่งประเทศไทยจับมือเกษตรศิวิไลซ์ พัฒนา “ใบยาสูบออร์แกนิค” สร้างมูลค่าเพิ่มช่วย “เกษตรกรยาสูบ”

15 มิ.ย.65 ยสท. จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ “โครงการพัฒนาใบยาสูบแบบออร์แกนิค เพื่อแปรรูปเป็นสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่” ร่วมกับ บริษัท เกษตรศิวิไลซ์ จำกัด ร่วมพัฒนาศักยภาพ “ใบยาสูบ” ให้เป็นวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์คุณภาพสูง ผนวกการปลูกพืชผักและสมุนไพรออร์แกนิคเสริมในพื้นที่ สำหรับแปรรูปเป็นวัตถุดิบคุณภาพสูงสำหรับเภสัชกรรม และพัฒนาเป็น“ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค”ต่าง ๆ รวมทั้งร่วมพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต “เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบไทย” ตั้งเป้าสร้างมูลค่าและรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร

นายพีรธัช สุขพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เกษตรศิวิไลซ์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้พัฒนาธุรกิจทางการเกษตร ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ด้วยการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอาหาร (Food supply chain) และเครือข่ายเพื่อความมั่นคง ตลอดจนระบบนิเวศน์เกษตรยั่งยืน เล็งเห็นถึงสภาวะความไม่มั่นคงและปลอดภัยทางด้านอาหารที่เกิดจากเกษตรกรใช้เคมี และสารพิษทำการเกษตรมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดสารตกค้างส่งผลกระทบต่อโลก สิ่งแวดล้อม รวมทั้งสุขภาพของประชาชน บริษัทเล็งเห็นว่า การทำระบบเกษตรอินทรีย์จึงเป็นทางรอดทางเดียวของเกษตรกรรมไทย โดยบริษัทตั้งเป้าสร้างมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้น 5 เท่า ภายใน 3 ปี

capture 20220615 154437 1
พัฒนาคุณภาพใบยาสูบไทย

โครงการความร่วมมือแรกที่บริษัทได้ดำเนินการคือร่วมมือกับการยาสูบแห่งประเทศไทย จัดทำ “โครงการพัฒนาใบยาสูบแบบออร์แกนิค เพื่อแปรรูปเป็นสารอาหารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพของ “ใบยาสูบอินทรีย์” รวมทั้งพืชผักและสมุนไพรออร์แกนิค เพื่อนำไปแปรรูปเป็นสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมต่อยอดสู่ผลการวิจัยใหม่ ๆ นำไปสู่การผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์

และเพื่อร่วมพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูก “ต้นยาสูบแบบออร์แกนิค”ในระดับอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์มูลค่าสูง เพื่อให้ได้ “ใบยาสูบออร์แกนิค”มาตรฐานสากล ปลอดเคมีที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบคุณภาพสูง รวมทั้งเพื่อพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และสมาชิกเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบให้มีความสามารถปลูก และจัดการพื้นที่เพาะปลูกให้เป็นออร์แกนิคฟาร์มที่มีมาตรฐานสากล สำหรับรองรับการพัฒนาการผลิตพืชเศรษฐกิจและพืชสมุนไพรแบบออร์แกนิค เป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เป็นการสร้างมูลค่า เพิ่มรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่สมาชิกเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนของการยาสูบแห่งประเทศไทยอีกด้วย

ที่สำคัญที่สุดจากโครงการความร่วมมือนี้ จะทำให้การยาสูบแห่งประเทศไทยจะเป็นรัฐวิสาหกิจแรกในการส่งเสริมและสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรไทย และประชาชนชาวไทย

สำหรับบริษัทฯ ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบในสังกัดการยาสูบแห่งประเทศไทยพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกให้ปลอดสารเคมีและมีอินทรีย์วัตถุเพียงพอต่อการเพาะปลูก ซึ่งสำหรับใบยาสูบอินทรีย์อยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาภายใน 2 ปี รวมทั้งส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสานปลูกพืชผักและสมุนไพรออร์แกนิคในพื้นที่ โดยปลูกตามความเหมาะสมของช่วงฤดูกาลเพาะปลูก ในช่วงแรกนำร่องปลูกพืชผักและสมุนไพรออร์แกนิคในแปลงยาสูบภาคเหนือ 5 จังหวัด จะสามารถสร้างรายได้ต่อสมาชิกเกษตรกรยาสูบในปีที่ 3 อย่างน้อย 70,000 บาทต่อไร่ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.2 พันล้านบาท จากพืชผักและสมุนไพรออร์แกนิคเพียงอย่างเดียว หากการวิจัยและพัฒนาใบยาสูบอินทรีย์เสร็จสิ้น บริษัทฯ มั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มรายได้และมูลค่าเพิ่มได้สูงถึง 5 เท่าอย่างแน่นอน

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ร่วมพัฒนาและทดสอบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด และดำเนินการจัดหาช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการในเชิงพาณิชย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รวมทั้งร่วมพัฒนาองค์ความรู้และการบริหารจัดการอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์มูลค่าสูงให้แก่สมาชิกเกษตรกรยาสูบและวิสาหกิจชุมชนของการยาสูบแห่งประเทศไทย ให้มีความสามารถปลูก “พืชสมุนไพรแบบออร์แกนิค” อันจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มรายได้ให้สมาชิกเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกยาสูบแห่งประเทศไทย

ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบปลูกใบยาสูบ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เวอร์ยิเนีย เบอร์เลย์ และเตอร์กิช รวมพื้นที่ปลูกทั่วประเทศประมาณ 42,000 ไร่ กระจายตัวอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมูลค่าใบยาสูบจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ โดยพันธุ์เวอร์ยิเนียสร้างรายได้ 33,000 บาทต่อไร่ (เฉลี่ย 110 บาทต่อ กก.) พันธุ์เบอร์เลย์สร้างรายได้ 26,000 บาทต่อไร่ (เฉลี่ย 65 บาทต่อ กก.) พันธุ์เตอร์กิชสร้างรายได้ 15,400 บาทต่อไร่ (เฉลี่ย 77 บาทต่อ กก.) โดยคาดการณ์ว่าหากปรับเปลี่ยนการปลูกเป็นแบบเกษตรอินทรีย์จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ไม่น้อยกว่า 5 เท่าอย่างแน่นอน

ด้าน นายนพดล หาญธนสาร รักษาการแทนผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยสท. มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับทางบริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยพัฒนาคุณภาพใบยาสูบไทย ตลอดจนช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบในสังกัด ยสท.