”ข้อเท็จจริง“ เรื่องจีนแบนสับปะรดภูแลหรือไม่ ? 

จากกรณีที่ “สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย” แจ้งข่าวสุดช็อก “สับปะรดภูแล” โดนจีนแบน ส่งสัญญาณเตือนรัฐ รับมือก่อนผลผลิตทะลัก ล้นตลาด ลามกระทบคนงานมือปอก ไม่ต่ำกว่า 1 พันคน ในจังหวัดเชียงราย ตกงานทันที นั้น 

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยกับ “เรื่องเล่า ข่าวเกษตร” ว่า ข่าวน่าจะคลาดเคลื่อนเนื่องจากปัจจุบัน จีนยังไม่อนุญาตให้นำเข้าสัปปะรดตัดแต่ง การส่งออกผลไม้ตัดแต่งจากไทยเข้าจีน น่าจะเป็นการสำแดงพิกัดศุลกากรผิด หรือตั้งใจสำแดงเท็จ

แต่ถ้า เป็นการส่งออกสับปะรดทั้งผล (ไม่ตัดแต่ง) สามารถทำได้ เช่น เดียวกันกับทุเรียนสดและผลไม้สด 22 ชนิดที่ไทยส่งผลสดเข้าประเทศจีนได้ตามพิธีสารตามปกติ 

ดังนั้น ผลไม้สดตัดแต่งทุกชนิด จีนยังไม่อนุญาตให้นำเข้า

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมวิชาการเกษตร ได้มีหนังสือแจ้งไปยัง สำนักงานศุลกากรของประเทศจีน (General Administration of Customs of the People’s Republic China : GACC เพื่อขอให้ไทยสามารถเปิดตลาดส่งออกผลไม้สดตัดแต่งไปแล้ว เช่น สับปะรด และทุเรียนสด ตัดแต่ง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่และเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลไม้ให้ผู้ส่งออกไทย  รวมถึง ได้ขอให้จีนเปิดตลาดผลไม้แช่เยือกแข็ง เช่น มังคุดแช่แข็ง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายจีน 

นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างพิธีสารฯ สละ และอินทผาลัม เพื่อขยายการส่งออกผลไม้ไทย เพิ่มเติม ซึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอก ธรรมนัส  พรหมเผ่า จะได้มีกำหนดการเยือนจีนอย่างเป็นทางการเพื่อเจรจาผลักดันประเด็นดังกล่าว และขยายความร่วมมือด้านการเกษตรอย่างใกล้ชิดกับจีนในปลายปีนี้

IMG 7793

ทั้งนี้ ได้ทำหนังสือถึงประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอสนับสนุน หอการค้าไทยในการผลักดันการเปิดตลาดสินค้าสับปะรดปอกเปลือก และทุเรียนตัดแต่งพร้อมบริโภค (Ready to Eat) ไปจีน บรรจุไว้ในประเด็นเสนอท่านนายกรัฐมนตรี โปรดพิจารณา หยิบยกขึ้นหารือ กับฝ่ายจีน ในโอกาสการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงกลางเดือน ตุลาคม 2566 ด้วย จะเป็นประโยชน์ให้การค้าของประเทศไทยอย่างยิ่ง“

“ความจริงเรื่องจีนแบนสับปะรดตัดแต่งที่เป็นข่าวในเวลานี้ เป็นความคลาดเคลื่อน เพราะจีนเองยังไม่ได้เห็นชอบพิธีสารนำเข้าแต่อย่างใด แต่ยืนยันชัดเจนว่า สับปะรดภูแลที่เป็นผลยังส่งออกจีนได้ตามปกติ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรย้ำ

IMG 7796