เกษตรส่งเสริมการใช้แมลงผสมเกสรลำไย ผลผลิตเพิ่มขึ้น 78% ชี้ “ทองคำเหลว”จากสวนลำไย มีมูลค่ามหาศาล สร้างงานสร้างเงินให้เกษตรกร

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ผึ้งและแมลงช่วยผสมเกสร เป็นสิ่งมีชีวิตที่ก่อให้เกิดความสมบูรณ์แห่งห่วงโซ่อาหาร ไม่เพียงนำไปสู่การสร้างอาหารปลอดภัย แต่ยังก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ ผึ้ง ซึ่งเป็นแมลงที่มีความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงด้านอาหารโลก และก่อให้เกิดความสมบูรณ์แห่งห่วงโซ่อาหาร 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผึ้งจำนวนมากตายจากสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช ผนวกกับจำนวนสัตว์ป่าและพื้นที่ลดลง โดยนักวิจัยเผยว่าร้อยละ 40 ของแมลงผสมเกสรทั่วโลก เช่น ผึ้ง และผีเสื้อ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จึงจำเป็นต้องหาวิธีรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผึ้งช่วยผสมเกสรพืชถึงร้อยละ 90 ของพืชหลักในโลก โดยสามารถผสมเกสรพืชได้มากถึง 170,000 ชนิด และมีการประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจกิจของผึ้งทั่วโลกกว่าแสนล้านบาทต่อปี ปีคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 210 พันล้านเหรียญดอลล่าสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 9.5 ของมูลค่าผลผลิตสินค้าเกษตร การใช้ผึ้งช่วยผสมเกสรเป็นที่ยอมรับทั่วโลก

ประเทศไทยได้ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์แมลงช่วยผสมเกสรตามธรรมชาติ และส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งเพื่อช่วยผสมเกสรพืชทางการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า การอนุรักษ์ผึ้งช่วยในการผสมเกสรพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย หลายชนิดสามารถเพิ่มผลผลิตของไม้ผล พืชไร่ และพืชผักต่าง ๆ ได้อีกด้วย แมลงช่วยผสมเกสรในภาคการเกษตรของประเทศไทย ได้แก่ ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ผึ้งมิ้ม ผึ้งหลวง และชันโรง

การใช้แมลงช่วยผสมเกสรเพื่อเพิ่มผลผลิตพืช เป็นวิธีการและปัจจัยที่มีความสำคัญปัจจัยหนึ่งเพราะพืชเศรษฐกิจทางการเกษตรหลายชนิด ถึงแม้ว่าจะมีการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี  มีการเจริญเติบโต แข็งแรงออกดอกเต็มต้น หากไม่มีแมลงช่วยผสมเกสร ผลผลิตที่ได้รับก็จะบิดเบี้ยว ไม่สมบูรณ์ และไม่มีคุณภาพ

การใช้ผึ้งผสมเกสรเพิ่มผลผลิตพืชชนิดต่างๆ ในประเทศไทย จากการศึกษาการใช้ผึ้งพันธุ์ European honey bee ช่วยผสมเกสรพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย พบว่า ลำไยเพิ่มขึ้น 78.78 % เงาะโรงเรียนเพิ่มขึ้น 75.09 % ลิ้นจี่เพิ่มขึ้น 42.5 % พืชตระกูลแตงเพิ่มขึ้น 39.00 % งาเพิ่มขึ้น 26.70 %

ลำไยเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกลำไย 1.58 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกลำไยมากที่สุด คือ พื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ลำไยเป็นพืชผสมข้าม เนื่องจากมีดอกเพศผู้และเพศเมียแยกกันคนละดอก ดังนั้นจึงต้องมีแมลงมาช่วยผสมเกสรจึงจะสามารถติดผลผลิตได้ดี

กรมส่งเสริมการเกษตรจึงมีแนวทางที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลำไยทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ผึ้งช่วยผสมเกสร ซึ่งจะช่วยทำให้เปอร์เซ็นต์การติดผลของลำไยมีมากขึ้นทั้งลำไยต้นแก่และต้นอ่อน และจากการศึกษาวิจัยพบว่าผึ้งพันธุ์สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ร้อยละ 78.78

นางสุทิน ดีอุโมงค์ เกษตรอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน กล่าวว่า การส่งเสริมเกษตรกรการใช้แมลง(ผึ้ง)ในการผสมเกสรลำไยมีมานานแล้วที่ผ่านมาได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเป็นเกษตรแปลงใหญ่ผึ้ง ทั้งนี้มีแนวทางการปฏิบัติของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยคือ การทำสวนลำไยแบบเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรปลอดภัย โดยเน้นการจัดการและลดการใช้สารเคมี ในการป้องกันกำจัดศัตรูลำไย ควรใช้วิธีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) รวมถึงการใช้สารที่มีพิษน้อยต่อผึ้ง มีการสำรวจตรวจดูชนิดและปริมาณแมลงศัตรูลำไย อยู่เป็นประจำ เลือกใช้สารเคมีตามคำแนะนำและหลีกเลี่ยงการพ่นสารเคมี ช่วงดอกลำไยบาน และที่สำคัญคือ ทำข้อตกลงกับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งที่นำรังผึ้งมาตั้งวางในสวนลำไย และแจ้งเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งหากจำเป็นต้องใช้สารเคมีเพื่อให้ย้ายผึ้งออกจากสวนลำไยก่อน

นางรัตนาภรณ์ อินทะจักร์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่เลี้ยงผึ้ง อ.เมือง จ.ลำพูน มองเห็นประโยชน์ของการเลี้ยงผึ้งในสวนลำไย ซึ่งสามารถสร้างงานสร้างรายได้เป็นอาชีพเสริมให้เกษตรกรชาวสวนลำไย น้ำผึ้งจากสวนลำไยเปรียบเสมือนทองคำในสวน แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งยังไม่มีการรวมกลุ่ม ตัวใครตัวมัน ส่งผลให้ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางที่ซื้อขายน้ำผึ้งอย่างไม่เป็นธรรมเมื่อกรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปส่งเสริมเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่เลี้ยงผึ้ง ทำให้เกษตรกรมีอำนาจการต่อรองมากขึ้น เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการเลี้ยงผึ้ง

“เราเคยขายน้ำผึ้งได้กิโลละ 80 บาท ถูกเอาเปรียบมาก แต่เมื่อเรารวมกลุ่มกัน เราได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตรให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้องค์ความรู้ในการเลี้ยงวันนี้เราขายผึ้งได้กิโลกรัมละ200-250 บาท ที่สำคัญคือเราได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มแปลงใหญ่ลำไย ทำให้เราสามารถย้ายผึ้งไปหาอาหารในสวนลำไย และ เป็นการช่วยพี่น้องชาวสวนลำไยให้ได้ผลผลิตลำไยที่เพิ่มมากขึ้น” นางรัตนภรณ์กล่าว

ในการแนวทางการปฏิบัติของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่เลี้ยงผึ้งจะทำข้อตกลงกับเกษตรกรสวนลำไยให้ชัดเจน ในเรื่องของกำหนดการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช รวมถึงพื้นที่แนวรัศมีการออกหาอาหารของผึ้ง เพื่อป้องกันผึ้งตายจากสารเคมี เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งจะต้องทำการเคลื่อนย้ายผึ้งทันที เมื่อได้รับแจ้งช่วงเวลาการฉีดพ่นสารเคมีจากเกษตรกรชาวสวนลำไย และไม่วางรังผึ้งที่หนาแน่นจนเกินไป และเข้าตรวจเช็คพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ

เกษตรกรที่สนใจการเลี้ยงผึ้งสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มส่งเสริมแมลงเศรษฐกิจสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร  กรมส่งเสริมการเกษตร