ประกาศปิดล็อตการขายลำไยจากกลุ่มแปลงใหญ่ตำบลขัวมุง ล็อตล่าสุดเพิ่งหมดไปภายในเวลาอันรวดเร็วเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
การใช้สื่อโซเชี่ยลกลายเป็นอีกหนทาง ที่ช่วยส่งต่อผลผลิตลำไยของที่นี่ ไปยังลูกค้าทั่วประเทศ และหลายคนยังสั่งซื้อทุกปี จนกลายเป็นลูกค้าประจำกันไปแล้ว
ความสำเร็จของกลุ่มแปลงใหญ่ตำบลขัวมุง อ.สารภี จังหวัดเชียงใหม่ทำให้ต้องสืบเสาะหาที่มาที่ไปเพราะอะไรกลุ่มเกษตรกรถึงประสบความสำเร็จ มีหน่วยงานไหนให้การสนับสนุนบ้าง
นายเสน่ห์ ทะพิงค์แก ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ลำไยตำบลขัวมุง ได้เล่าให้ฟังว่า พื้นที่ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกลำไย (S1) เกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนลำไย และตำบลขัวมุง มีพื้นที่ปลูกลำไยมากเป็นลำดับสองของอำเภอ เกษตรกรตำบลขัวมุงมีรายได้หลักจากการจำหน่ายผลผลิตลำไย แต่ในบางฤดูกาลผลิตลำไยเกษตรกรประสบปัญหาหลายด้าน ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น สภาพดินฟ้าอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง ปัญหาการขาดแคลนแรงงานสำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิต ที่สำคัญปัญหาราคาลำไยตกต่ำ การจำหน่ายผลผลิตลำไยของเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นการจำหน่ายแบบ รูดร่วง ทำให้เกษตรกรรายย่อยประสบปัญหาในการผลิตและการจำหน่าย
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2559 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีนโยบายการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เกษตรกรผู้ปลูกลำไยตำบลขัวมุง จึงได้มีการรวมตัวกันกันเป็นกลุ่มเกษตรกร และจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ โดยรวบรวมเกษตรกรผู้ปลูกลำไยจำนวน 139 ราย พื้นที่390 ไร่ ขอจัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ลำไยตำบลขัวมุง แปลงปี 2559 ซึ่งเป็นแปลงแรกของอำเภอสารภี
ต่อมาได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ลำไยตำบลขัวมุง มีเป้าหมายเพื่อสร้างการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม มีการวางแผนการผลิต และมีการพัฒนาเกษตรกรให้สามารถดำเนินการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยทางกลุ่มได้รับโอกาสและช่องทางการจำหน่ายผลผลิตจากบริษัทประชารัฐรักสามัคคี และบริษัทท๊อปซุปเปอร์มาเก็ต จำกัด ตั้งแต่ ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการจำหน่ายแบบพันธสัญญาโดยวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ขัวมุง จำนวนผลผลิตลำไยสด 100,000 กิโลกรัม/ปี จากจำนวนลำไยที่ผลิตได้ 331,500 กิโลกรัมต่อปี
ปัจจุบัน กลุ่มได้ผลิตลำไยคุณภาพ มีมาตรฐาน GAP ทุกแปลง มีตลาดรองรับชัดเจน โดยทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคี เชียงใหม่ ส่งเข้าห้างท๊อปซุปเปอร์มาร์เก็ต และตลาดออนไลน์ ผ่านเพจเฟสบุ๊ก “แปลงใหญ่ลำไยตำบลขัวมุง”
ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรได้กล่าวถึงกลุ่มลำไยแปลงใหญ่ตำบลขัวมุงว่า เป็นแปลงใหญ่ต้นแบบของอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ หน่วยงานบูรณาการต่างๆ ของหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งในด้านงบประมาณ , การถ่ายทอดความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลผลิต และวัสดุอุปกรณ์การเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตจนถึงการตลาด,แบรนด์สินค้า สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การผลิตสารชีวภัณฑ์ ส่งเสริมการตลาด MOU สนับสนุนการแปรรูปลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง และเป็นหน่วยงานประสานการบูรณาการกับทุกหน่วยงาน จึงทำให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายในด้านการลดต้นทุน 25 % , การเพิ่มผลผลิต 25 % ,มาตรฐานการผลิต GAP,
นอกจากนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรยังมุ่งส่งเสริมเกษตรกรทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อมด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรสามารถทำแผนการผลิตส่วนบุคคล มีการวางแผนการผลิต การลดต้นทุนโดยการตรวจวิเคราะห์ดิน การใช้ปุ๋ยหมัก การใช้สารชีวภัณฑ์ การพัฒนาคุณภาพสินค้า การทำลำไยคุณภาพเกรด AA เน้นการผลิตโดยตลาดนำการผลิต ,ทำให้เกษตรกรมีความพึงพอใจในราคาได้ที่เพิ่มขึ้น ,เข้าถึงแหล่งเทคโนโลยี ,แหล่งเงินทุน
ด้านสังคม เกิดการรวมกลุ่ม ( ลำไยแปลงใหญ่ ) รวมผลิต ,รวมซื้อ ,รวมขาย อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามัคคี ก่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นกลุ่มตัวอย่างแก่เกษตรกรทั่วไปในการเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานด้านการเกษตรแปลงใหญ่โดยเฉพาะด้านไม้ผล ลำไย
ด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการแบบแปลงใหญ่เน้นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การเตรียมดินเช่น การใช้ใบลำไยคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชื้นและลดการเผาในพื้นที่การเกษตร การผลิตมาตรฐานGAP เป็นการผลิตที่เน้นการรักษาสมดุลระบบนิเวศน์ความยั่งยืนของแปลงใหญ่ การบริหารจัดการโดยคณะกรรมการกลุ่มอย่างเข้มแข็ง มีการพัฒนาแปลงใหญ่โดยเน้นการตลาดนำการผลิต กลุ่มและสมาชิกได้รับผลตอบแทนและมีความพึงพอใจทำให้เกิดความศรัทธาในระบบแปลงใหญ่ตั้งแต่การผลิตจนถึงการตลาด ก่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาแปลงใหญ่ต่อไป