“เยาวรัตน์ ใจเพียร” เกษตรกรปราดเปรื่อง อยู่ได้ อยู่ดี มั่นคงบนอาชีพทำนา

นางเยาวรัตน์ ใจเพียร เกษตรกรปราดเปรื่อง Smart Farmer ด้านข้าวมีความรู้ความพร้อมในทุกด้านเกี่ยวกับข้าวโดยเข้าอบรมและร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช จนสามารถเผยแพร่องค์ความรู้ รับหน้าที่เป็นวิทยากรในการส่งต่อความรู้ให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจในพื้นที่ได้

รวมไปถึงสามารถต่อยอดองค์ความรู้ให้กับสมาชิกในกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสี่กั๊ก นำข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่เกษตรกรภายในชุมชนปลูก คือ ข้าวเล็บนก-ปัตตานี มาแปรรูปเป็นขนมไทยพื้นบ้าน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยส่งจำหน่ายในท้องถิ่นชื่อ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรบ้านสี่กั๊กพัฒนา และ มีการแปรรูปข้าวที่ปลูกเอง (ข้าวเล็บนกปัตตานี และข้าวสังข์หยดพัทลุง) เป็นข้าวสารจำหน่ายในพื้นที่ใกล้เคียง ภายใต้ชื่อ ข้าวพื้นเมืองบ้านสี่กั๊ก และยังแปรรูปเป็นข้าวเปลือกอาหารสำหรับสัตว์ให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ชนในพื้นที่อ.ท่าศาลา

324521
เยาวรัตน์ ใจเพียร

นางเยาวรัตน์ ใจเพียร เกษตรกรปราดเปรื่อง Smart Farmer ด้านข้าวเล่าว่า จุดเด่นในการทำขนมของกลุ่ม คือ กลุ่มจะมีสูตรเฉพาะของขนมในแต่ละชนิด เน้น 3 รสชาติหลักคือ เหนียว หวาน มัน อร่อย ผู้บริโภคซื้อไปแล้วเกิดการบอกต่อความอร่อยได้ มาตรฐานอีกอย่างคือ สด ใหม่ ทุกวัน ไม่มีการใส่สารกันบูดโดยจำหน่ายตามร้านค้า ตลาดในพื้นที่ แต่ปัจจุบันก็มีทำส่งให้โรงพยาบาลในพื้นที่ หรือ มีลูกค้าที่ได้ลองชิมแล้วติดใจในรสชาติที่ถูกปาก ลูกค้าก็จะสามารถสั่งออเดอร์ได้โดยตรงเลยและในเรื่องเกี่ยวกับข้าวเปลือก ทางกลุ่มจะมีกิจกรรมคือ แปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสารจำหน่ายในรูปแบบแพ็คเกจและเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ว่าเป็นข้าวปลอดสาร ไม่มีสารเคมี ไม่ใส่วัตถุเจือปน ผู้บริโภคสามารถมั่นใจในความปลอดภัยได้

324525
แปรรูปเป็นขนมไทยพื้นบ้าน

จากการเข้าร่วมอบรมโครงการต่าง ๆ ทำให้นางเยาวรัตน์นำความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรภายในกลุ่มและชุมชน มีการส่งเสริมให้คนในกลุ่มของตนเองใช้ปุ๋ยหมักร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิต ในส่วนของปุ๋ยหมักได้นำวัสดุเหลือใช้จากในท้องถิ่นมาทำปุ๋ยหมัก เช่น แกลบ ขี้วัว เป็นต้น ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับปุ๋ยได้เยอะ และยังผลิตเพื่อจำหน่ายปุ๋ยหมักเป็นกระสอบให้กับเกษตรกรทั้งในชุมชนและบริเวณใกล้เคียง ถือเป็นการเพิ่มช่องทางทำมาหากินอีกช่องทางหนึ่ง อีกทั้งกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสี่กั๊กยังเป็นศูนย์เรียนรู้ในการทำปุ๋ยหมัก ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่สนใจติดต่อเข้ามาขอเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

324523
ผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรบ้านสี่กั๊กพัฒนา

นางเยาวรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราชก็เข้ามาช่วยในเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว กรรมวิธีในการปลูกข้าว นวัตกรรม เทคโนโลยีต่าง ๆ ทางเจ้าหน้าที่มีการแนะนำเกี่ยวกับการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และช่วยประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือช่องทางการตลาดก็คอยแนะนำจัดหาช่องทางการขายให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้นและที่สำคัญคือ ทางศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราชมีการอบรมให้ความรู้อยู่บ่อยครั้ง และเมื่อผ่านการอบรมนางเยาวรัตน์ก็จะนำความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอดความรู้แก่สมาชิกภายในกลุ่ม โดยอาศัยในช่วงเวลาประชุมหมู่บ้าน ตอนนี้เกษตรกรก็มีรายได้เพิ่มขึ้น และลดต้นทุนในการผลิต ทำให้ความเป็นอยู่ของเกษตรกรในกลุ่มสามารถเลี้ยงตนเองได้ พึ่งพาตนเองได้ ถือว่ามีความมั่นคงเพิ่มขึ้นมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิสาหกิจชุมชน เป็นกลุ่มกิจกรรมที่ชุมชนคิดได้จากการเรียนรู้ จากการสำรวจวิจัยสภาพชีวิตของตนเองรวมทั้งศักยภาพและทรัพยากรต่าง ๆ ที่เป็นทุนของตนเองที่ยังไม่ได้มีการพัฒนา ยังไม่มีกระบวนการเพิ่มมูลค่าให้สิ่งเหล่านั้น กิจกรรมเหล่านี้ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนล้วนแต่เป็นการทำกิน ทำใช้ แทนการซื้อจากตลาดเป็นการจัดการระบบการผลิตและการบริโภคใหม่นั้นเอง เช่น การที่ชุมชนผลิตสิ่งของเครื่องใช้ อาหารและเครื่องนุ่งห่มได้เอง โดยไม่ยุ่งยากอะไร เท่ากับเป็นการลดรายจ่าย การลดรายจ่ายเท่ากับเพิ่มรายได้ ทำอย่างนี้จะไม่ทำให้ระบบเศรษฐกิจใหญ่เสียหายหรือตรงกันข้ามคือทำให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพราะเท่ากับเป็นการจัดระบบเศรษฐกิจใหม่ปรับฐานเศรษฐกิจใหม่ ฐานที่เป็นฐานจริงในชุมชน ถ้าชุมชนเข้มแข็งอยู่รอดพึ่งตนเองได้เศรษฐกิจของประเทศก็เข้มแข็งและอยู่ได้

ที่ผ่านมาระบบเศรษฐกิจโตแต่ข้างบนแต่ข้างล่าง (รากหญ้า) อ่อนแอ ทำให้การพัฒนามีปัญหา ระบบเศรษฐกิจแบบไม่ยั่งยืน และเมื่อเกิดการทำงานรวมกลุ่มกันที่เข้มแข็งมากพอ จึงควรมีการพัฒนาระดับจากองค์การที่เน้นการอยู่ร่วมกันของสมาชิกกลุ่มขึ้นมาเป็นองค์กรที่มีรูปแบบทางธุรกิจมากขึ้น

324526
ผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรบ้านสี่กั๊กพัฒนา

324522
ผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรบ้านสี่กั๊กพัฒนา