ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประเมินผลโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแมลงเศรษฐกิจ หนึ่งในโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แผนแม่บทย่อยเกษตรชีวภาพ มีเป้าหมายในการพัฒนาความรู้และทักษะแก่เกษตรกรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแมลงเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและสามารถแข่งขันได้ ตลอดจนส่งเสริมพัฒนาให้เกิดเครือข่ายสำหรับเชื่อมโยงการผลิตและการตลาด มีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และ สศก. รับผิดชอบดำเนินการติดตามประเมินผล
สำหรับปีงบประมาณ 2565 โครงการฯ กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 32 จังหวัด เกษตรกร 640 ราย โดยจัดประชุมชี้แจงรายละเอียดโครงการ และจัดเวทีวิเคราะห์ความต้องการในการพัฒนาความรู้ด้านแมลงเศรษฐกิจ เพื่อกำหนดแผนการพัฒนาความรู้ด้านแมลงเศรษฐกิจตามความต้องการของเกษตรกร ซึ่งจากการประเมินผลการดำเนินโครงการฯ ในปีงบประมาณ 2565 สศก. พบว่า ภาพรวมสามารถพัฒนาความรู้และทักษะแก่เกษตรกรด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจำนวน 643 ราย ตามเป้าหมายที่กำหนด ประกอบด้วย เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งพันธุ์ 20 ราย ผึ้งโพรง 223 ราย ชันโรง 20 ราย และจิ้งหรีด 380 ราย
ตัวอย่างผลสำเร็จของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งพันธุ์ทั้ง 20 ราย ณ ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย พบว่า มีการเลี้ยงผึ้งพันธุ์รวม 3,700 รัง (เฉลี่ยรายละ 185 รัง) สามารถผลิตน้ำผึ้งได้เฉลี่ย 28.50 กิโลกรัมต่อรังต่อปีต่อราย เพิ่มขึ้นจากเดิมก่อนเข้าร่วมโครงการซึ่งมีผลผลิตเฉลี่ย 27.55 กิโลกรัมต่อรังต่อปีต่อราย (เพิ่มขึ้น 0.95 กิโลกรัมต่อรังต่อปีต่อราย หรือร้อยละ 3.45)
ภาพรวมเกษตรกรสามารถผลิตน้ำผึ้งได้รวมกัน 105,450 กิโลกรัมต่อปี จากเดิม 101,935 กิโลกรัมต่อปี (เพิ่มขึ้นจำนวน 3,515 กิโลกรัมต่อปี) นอกจากนี้ เกษตรกรได้นำความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผึ้งพันธุ์ ไปใช้ในการปรับปรุงการเลี้ยงของตนเอง ได้แก่ การเปลี่ยนนางพญาผึ้ง การบรรจุน้ำผึ้ง การเลี้ยงและดูแลผึ้ง จำนวนคอนที่เหมาะสมในรังผึ้ง (กรอบไม้ในรังผึ้งเพื่อให้ผึ้งสร้างรวงผึ้ง) การตัดรวงผึ้ง รวมถึงมาตรฐาน GAP ในการเลี้ยงผึ้ง
ขณะที่ด้านรายได้ พบว่า เกษตรกรนำผลผลิตที่ได้ทั้งหมดไปจำหน่ายให้แก่แหล่งรับซื้อในท้องถิ่นในราคาเฉลี่ย 80 บาทต่อกิโลกรัม สร้างรายได้เพิ่มให้แก่กลุ่มเกษตรกร 281,200 บาทต่อปี หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 14,060 บาทต่อรายต่อปี ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงผึ้งโพรง ชันโรง และจิ้งหรีด อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูล ผลการประเมินทั้งโครงการจะนำเสนอในระยะต่อไป
สำหรับปีงบประมาณ 2566 โครงการฯ ได้กำหนดเป้าหมาย 35 จังหวัด เกษตรกรเป้าหมายรวม 700 ราย โดยเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ทั้งหมด ซึ่งจากการติดตามโครงการฯ ของ สศก. ในช่วงไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม – ธันวาคม 2565) พบว่า อยู่ในกระบวนการจัดเวทีสำรวจความต้องการในการพัฒนาความรู้ด้านแมลงเศรษฐกิจ เพื่อกำหนดแผนการพัฒนาความรู้ด้านแมลงเศรษฐกิจตามความต้องการของเกษตรกรต่อไป
ทั้งนี้ สศก. มีแผนดำเนินการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการฯ ของปีงบประมาณ 2566 แบบรายไตรมาส รวม 4 ไตรมาส โดยในไตรมาสที่ 2 กำหนดลงพื้นที่ในเดือนมีนาคม – เมษายน 2566 พื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ มหาสารคาม ชลบุรี กำแพงเพชร และแพร่ เพื่อติดตามกลุ่มเกษตรที่เลี้ยงแมลงเศรษฐกิจตามผลการจัดเวทีวิเคราะห์ความต้องการในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะรายงานผลการติดตามให้ทราบในโอกาสต่อไป