วันที่ 11 มี.ค. 2566 ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นายนิพนธ์ บุญญามณี นายอลงกรณ์ พลบุตร ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งทั้งหมดเป็นคณะกรรมการนโยบายของพรรค ได้ร่วมกันแถลงเปิด 8 นโยบาย ชุดที่ 2 เพิ่มเติม หลังจากเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการเปิดนโยบายไปแล้ว 8 นโยบาย เพื่อสู้ศึกการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น โดยนายจุรินทร์ กล่าวถึง 8 นโยบายใหม่ ที่ได้ประกาศในวันนี้ ประกอบด้วย
นโยบายที่ 1 “อินเทอร์เน็ตฟรี 1 ล้านจุด ทุกหมู่บ้าน ทุกห้องเรียน”
ซึ่งหมู่บ้านดังกล่าว หมายถึงชุมชนในเขตเมือง เขตเทศบาล เขตหน่วยการปกครองท้องถิ่น รวมทั้งในพื้นที่ชุมชนของกรุงเทพมหานครด้วย ซึ่งจะมีทั้งหมดประมาณ 80,000 หมู่บ้าน/ชุมชน และจะมีอินเทอร์เน็ตฟรี รวมกันในหมู่บ้าน/ชุมชน ประมาณ 6 แสนจุด สำหรับห้องเรียน ทั่วประเทศมีประมาณ 350,000 ห้อง โดยจะจัดให้มีอินเทอร์เน็ตฟรีประมาณ 400,000 จุด รวมอินเทอร์เน็ตฟรี 1 ล้านจุด ทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ทุกห้องเรียน
นโยบายที่ 2 “เรียนฟรี ถึงปริญญาตรี สาขาที่ตลาดต้องการ”
จากการสำรวจเบื้องต้น โดย อว. พบว่ามีสาขาที่ตลาดต้องการ มีอยู่อย่างน้อยจำนวน 1.8 แสนคน โดยประมาณ ใน 12 สาขาสำคัญ หากประชาธิปัตย์เป็นแกนตั้งรัฐบาล จะสนับสนุนให้มีการเรียนฟรีถึงปริญญาตรีในสาขาที่เป็นความต้องการของตลาด เพื่อให้เรียนจบแล้วมีงานทำ สนองตลาดนำการผลิตทางการศึกษาได้ทันที
นโยบายที่ 3 “ตรวจสุขภาพฟรี รักษาฟรี โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว”
นโยบายนี้มี 2 เรื่องอยู่ในนโยบายเดียวกัน เรื่องที่ 1 คือ รักษาฟรี ที่เป็นมาตรการในการรักษาพยาบาล เรื่องที่ 2 คือตรวจสุขภาพฟรี เป็นมาตรการในการป้องกัน ดังนั้นถ้าพบว่ามีปัญหาสุขภาพก็จะทำการตรวจรักษาได้ทันท่วงที ถือเป็นการต่อยอดนโยบายเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ทำมาตั้งแต่อดีต โดยย้อนไปตั้งแต่ก่อนที่ท่านชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน เป็นเลขารัฐมนตรี ช่วงปี 31-32 เราได้มีการจัดให้มีการรักษาฟรี สำหรับเด็กประถม ผู้นำชุมชน รวมทั้งผู้สูงอายุ ต่อมาเมื่อนายจุรินทร์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในปี 53 จึงได้ริเริ่มนโยบาย บัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรี 48 ล้านคน โดยไม่ต้องเสีย 30 บาท และสามารถดำเนินนโยบายนั้นได้ด้วยความราบรื่น เพราะฉะนั้นนโยบายนี้จึงเป็นการต่อยอดในสิ่งที่ได้ทำสำเร็จมาแล้วทั้งหมด เพื่อมาเดินหน้าต่อไป
นโยบายที่ 4 “ชมรมผู้สูงอายุรับ 30,000บาท ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน”
ปัจจุบันประเทศไทยมีชมรมผู้สูงอายุที่จดทะเบียนอยู่ประมาณ 30,000 ชมรม และถ้าประชาธิปัตย์เป็นการตั้งรัฐบาลก็จะช่วยสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถทำกิจกรรมรวมกลุ่มในลักษณะนี้ต่อไป เพื่อประโยชน์ทั้งทางด้านสุขภาพ ร่างกาย จิตใจและการอยู่ร่วมกันในสังคม รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างเงิน สร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุต่อไปด้วย
นโยบายที่ 5 “SME ต้องมีแต้มต่อ 3 แสนล้าน”
SME คือตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ซึ่งมีทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ และทุกภาคที่เกี่ยวข้อง โดย SME คิดเป็นกว่าร้อยละ 90 ของนิติบุคคลรวมกันทั่วทั้งประเทศ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3,200,000 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงานถึง 12.6 ล้านคน
แต้มต่อที่ 1 ถ้าประชาธิปัตย์เป็นแกนตั้งรัฐบาล SME จะมีแต้มต่อทางด้านการผลิต ซึ่งจะมีการจัดการในองค์ความรู้ทุกด้าน ทั้งการผลิต ตลาด การบริหารจัดการ ระบบบัญชี ระบบภาษี ทั้งหมดที่ SME ควรมีแต้มต่อ เพื่อแข่งกับธุรกิจขนาดใหญ่ต่อไปในอนาคตได้
แต้มต่อที่ 2 แต้มต่อทางด้านการตลาด ที่ SME ควรจะได้รับโอกาสในการได้สิทธิ์เพื่อเดินหน้าเข้าสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไปภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลประชาธิปัตย์ในอนาคต เช่น การออกงานจัดแสดงสินค้า ถ้าเรียงลำดับตามศักยภาพ SME ไม่มีวันได้ไปต่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องให้แต้มต่อ เช่นจัดพื้นที่ให้ 10% สำหรับ SME พร้อมกับนำไปตลาดที่คาดว่า SME จะเปิดได้เบื้องต้น อย่างกลุ่มประเทศ CLMV รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น จากนั้นเมื่อแข็งแรงแล้ว จะสามารถขยายไปสู่ตลาดโลกได้ต่อไป
แต้มต่อที่ 3 ตั้งกองทุน 300,000 ล้านบาท เพื่อให้ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน แหล่งทุน สำหรับนำมาขยายกิจการ ต่อลมหายใจ หรือนำมาเพิ่มทุนสำหรับเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้กับประเทศต่อไปได้
นโยบายที่ 6 “ปลดล็อค กบข. และกองทุนเลี้ยงชีพ ให้ซื้อบ้านได้”
ปัจจุบัน กบข. มีวงเงินอยู่ 1.2 ล้านล้านบาทโดยประมาณ และมีสมาชิก กบข.ถึง 1.2 ล้านคน รวมทั้งมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ วงเงินประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท และมีสมาชิกอยู่ถึง 3 ล้านคน เมื่อรวม 2 กองทุน จะมีวงเงินอยู่ประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท และมีสมาชิกรวมกันประมาณ 4 ล้าน 2 แสนคน ซึ่งนโยบายปลดล็อคดังกล่าวจะทำให้สมาชิกจากทั้ง 2 กองทุนสามารถนำเงินส่วนหนึ่งมาซื้อบ้านได้ หรือนำมาลดหนี้บ้าน เช่น นำมาเป็นเงินต้น เพื่อให้ยอดเงินต้นลดลง สามารถผ่อนบ้านได้ครบถ้วน และมีบ้านเป็นของตัวเองได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยทั้งข้าราชการและผู้ที่ทำประกันสังคม รวมไปถึงผู้ใช้แรงงานด้วย
นโยบายที่ 7 “3 ล้านบาทต่อยอดเกษตรแปลงใหญ่”
เกษตรแปลงใหญ่ในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10,000 แปลง มีเกษตรกรเข้าร่วม 5 แสนราย ในพื้นที่กว่า 8 ล้านไร่ ถือว่าเกษตรแปลงใหญ่ เป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาการเกษตรของประเทศ เป็นการลดต้นทุน เป็นการร่วมกันใช้เทคโนโลยี เป็นการร่วมกันต่อยอดสร้างนวัตกรรมร่วมกันในนามกลุ่ม ซึ่งได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดีเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าดีกว่าต่างคนต่างทำ และการทำเกษตรแปลงใหญ่จะสามารถขับเคลื่อนการเกษตรไปสู่ความสำเร็จได้มากกว่า สร้างผลิตภาพได้สูงกว่า ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ประชาธิปัตย์สนับสนุน และพร้อมที่จะมีเงิน 3 ล้านต่อยอดให้แต่ละกลุ่มแต่ละแปลง
นโยบายที่ 8 “ค่าตอบแทน อกม. (อาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้าน) 1,000 บาทต่อเดือน”
เพื่อที่จะช่วยให้กระทรวงเกษตรฯ ได้มีอาสาสมัครที่จะเป็นผู้ไปช่วยดูข้อมูล และประสานงานลึกลงไปถึงระดับหมู่บ้าน ครัวเรือน ที่ทำการเกษตร เพราะเกษตรเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นฐานรากใหญ่ในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีอาสาสมัครเพื่อไปขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ให้ประสบความสำเร็จ สำหรับสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศฐานรากต่อไป
“ทั้งหมด ก็ไม่ได้แปลว่า ประชาธิปัตย์มีนโยบาย 8+8 เป็น 16 แต่เรายังมีนโยบายอื่น ๆ อีกหลายนโยบาย เกือบจะเรียกว่าเป็นร้อยนโยบาย แต่ที่จะนำมาแถลงข่าวเปิดตัวนั้น จะได้คัดมาเฉพาะนโยบาย ที่ประชาชนจะเข้าถึงได้ง่าย และพรรคก็มีความประสงค์ที่จะนำมาไฮไลท์ ขีดเส้นใต้เป็นกรณีพิเศษเท่านั้น ซึ่งนโยบายที่ได้แถลงมาทั้งหมดจะได้รวมถึงพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วย ไม่แยกจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้เพิ่มเติมว่า จากการแถลงนโยบายทั้ง 2 ครั้งของประชาธิปัตย์นั้น ได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการเกษตร ในการเปลี่ยนจากเมืองเกษตร เป็นเมืองอาหาร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก้ปัญหาความยากจน และหนี้สิน ซึ่งการแถลงในวันนี้จะมี 2 นโยบายที่เกี่ยวข้อง กับการปฏิรูปการเกษตรครั้งใหญ่ ด้วยการสร้างเกษตรแปลงใหญ่ (Big Farm) ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการทำงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ที่ได้สนับสนุนให้มีการใช้เกษตรอัจฉริยะ การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร การบริหารจัดการเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ พร้อมกับเชื่อมั่นว่า นโยบาย “3 ล้านบาทต่อยอดเกษตรแปลงใหญ่” จะสามารถสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุน การเสริมสร้างสภาพใหม่ให้กับภาคเกษตรของทั้งพืช ประมงและปศุสัตว์
สำหรับนโยบายให้ค่าตอบแทนอาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้าน (อกม.) นั้น นายอลงกรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมี อกม. ถึง 76,000 คน ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ในการทำหน้าที่ช่วยแก้ไขปัญหา และช่วยติดตามแนวนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งการให้ค่าตอบแทนดังกล่าว จะก่อให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐศาสตร์ ไม่น้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 1 ล้านล้านบาท จากการที่เราสามารถส่งออกสินค้าเกษตรอาหารได้ถึง 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งสามารถทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรด้านอาหาร อันดับที่ 13 ของโลก พร้อมกันนี้จึงได้ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นมหาอำนาจทางอาหารของโลกต่อไป
ทั้งนี้ ใน 8 นโยบายประชาธิปัตย์ ในชุดแรกที่ได้แถลงไปเมื่อวันที่ 13 ม.ค. นั้น ประกอบด้วย นโยบายที่ 1 นโยบาย การประกันรายได้จ่ายเงินส่วนต่าง ข้าว มัน ยาง ปาล์ม และข้าวโพด นโยบายที่ 2 ชาวนารับ 30,000 บาทต่อ 1 ครัวเรือน นโยบายที่ 3 ฟรีนมโรงเรียน 365 วัน นโยบายที่ 4 ให้เงินอุดหนุนกลุ่มเกษตรกรประมง กลุ่มละ 100,000 บาทต่อปีทุกกลุ่ม นโยบายที่ 5 ปลดล็อกประมงพาณิชย์ ภายใต้ IUU นโยบายที่ 6 ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี นโยบายที่ 7 ให้กรรมสิทธิ์ทำกินให้กับผู้ทำกินในที่ดินของรัฐ นโยบายที่ 8 ธนาคารหมู่บ้าน/ชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท