รมช.อนุชา นำทีมเกษตรกรไทย ศึกษาเรียนรู้แปลงต้นแบบ Agri-Map จ.อุดรธานี ขับเคลื่อนสร้างเกษตรเงินล้าน เดินหน้าขยายพื้นที่ ต่อยอดความสำเร็จ

S 4382895
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ

วันนี้ (17 ก.พ.67) นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อตรวจเยี่ยมความสำเร็จแปลงต้นแบบโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมตามแผนที่เกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map)ในการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม ด้วยการทำเกษตรผสมผสานและปศุสัตว์ ณ แปลงเกษตรของนายวิชาญ นามอาษา บ้านวังแสง ต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี และแปลงเกษตรของนายวีระชาติ อ่อนนอ บ้านสะอาดนามูล ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี โดยมีผู้นำชุมชนจากจังหวัดชัยนาท จังหวัดอุดรธานี เกษตรกร และหมอดินอาสา จำนวน 300 คน เข้าร่วมศึกษาดูงานในครั้งนี้เพื่อนำความรู้ไปปรับใช้ในพื้นที่แปลงเกษตรของตนเอง

S 4382853

นายอนุชา กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการพื้นที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกข้าวและพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ให้เกิดการปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่กิจกรรมการผลิตที่มีความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน เช่น การทำปศุสัตว์ การปลูกพืชอาหารสัตว์ การทำเกษตรผสมผสาน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะเห็นได้ว่าแปลงต้นแบบของเกษตรกรทั้ง 2 ราย มีการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม ด้วยการทำเกษตรผสมผสานและปศุสัตว์ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว จากเดิมที่ทำนาเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ต่อยอดสู่ความร่ำรวย จะทำให้หลุดพ้นจากความยากจนได้ ถือเป็นการขับเคลื่อนการทำงานโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาภาคเกษตรกรรม และยกระดับรายได้ของพี่น้องเกษตรกร โดยยึดตามหลัก “การเลี้ยงโคคณิตศาสตร์” ที่ทำให้เกิดการเพิ่มรายได้ทุกปี แค่เกี่ยวหญ้าเป็นก็ได้จับเงินแสนเงินล้านและปลดหนี้ได้ นำไปสู่การสร้างรายได้ที่สมดุล จนถึงการมีอาชีพที่มั่นคง จะเป็นอีกหนึ่งหนทางอาชีพที่สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืนต่อไป

S 4382849

ด้านนายวิชาญ นามอาษา เกษตรกร เปิดเผยว่า ตนมองว่าการทำนาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถที่จะมีรายได้เพียงพอ จึงเข้าร่วมโครงการพัฒนาที่ดินเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม (Agri-Map) จากการปลูกข้าวเป็นเกษตรแบบผสมผสาน ของกรมพัฒนาที่ดิน โดยได้ทำการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนา 15 ไร่ มาเป็นการปลูกข้าว 5 ไร่ ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ 5 ไร่ พืชผักผลไม้ 3 ไร่ คอกสัตว์และแหล่งน้ำ 2 ไร่ ส่งผลทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว มีรายได้ตลอดปี 14,940 บาท แต่หลังปรับเปลี่ยนกิจกรรมมีรายได้ตลอดปี 148,700 บาท และยังมีการเลี้ยงวัวกว่า 50 ตัว ทำให้มีรายได้จากการขายวัว และขายมูลวัวอีกด้วย ทำให้ปัจจุบัน กลายเป็นเกษตรกรต้นแบบของการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรผสมผสาน ให้กับเกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ ได้มาศึกษาเรียนรู้

S 4382851

ขณะที่นายวีระชาติ อ่อนนอ เกษตรกร เปิดเผยว่า ได้ลาออกจากโรงงานอุตสาหกรรม แล้วกลับมาประกอบอาชีพทำเกษตร และเลี้ยงวัว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาไปเป็นแรงงานต่างประเทศ และกลับมาทำเกษตร โดยมีพื้นที่ 93 ไร่ และเข้าร่วมโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ของสถานีพัฒนาที่ดินอุดรธานี กรมพัฒนาที่ดิน ขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ และได้ทำการปรับเปลี่ยนพื้นที่โดยแบ่งเป็น ปลูกข้าว 5 ไร่ ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ 60 ไร่ โรงเรือนเลี้ยงวัวและโรงเก็บหญ้าแห้งฟางแห้ง 1 ไร่ พื้นที่เลี้ยงวัว 12 ไร่ แหล่งน้ำ 5 ไร่ พืชผักสวนครัว 2 ไร่ ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ 7 ไร่ ซึ่งหลังปรับเปลี่ยนกิจกรรมมีรายได้ตลอดปีรวม 131,484 บาท อีกทั้ง มีการเลี้ยงวัวกว่า 50 ตัว ทำให้ปัจจุบัน กลายเป็นเกษตรกรต้นแบบของการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวมาปลูกหญ้า เลี้ยงสัตว์ และเป็นศูนย์เครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีกรมปศุสัตว์ (เครือข่ายใช้ประโยชน์พันธุกรรมและเทคโนโลยี) และยังเป็นต้นแบบในการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกทางหนึ่งด้วย

S 4382852

สำหรับพื้นที่ ต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี ได้ดำเนินโครงการพัฒนาที่ดินเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม (Agri-Map) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 – 2566 รวมพื้นที่ 570 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วม 52 ราย และเป็นเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวเป็นการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ในปี 2565 จำนวน 7 ราย โดยการปรับระดับพื้นที่ขุดร่องน้ำแบบยกคันดิน ทำให้มีการกักเก็บน้ำและใช้ประโยชน์บนคันดินได้ ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดิน มีแผนขยายโครงการในปี 2567 โดยจะขยายพื้นที่ในตำบลห้วยสามพาด 200 ไร่ และตำบลนาม่วง 200 ไร่ ต่อไป

S 4382855
S 4382854