สัตว์ป่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงเผ่าพันธุ์มาตั้งแต่โบราณกาลและมีวิวัฒนาการมายาวนาน แต่ในปัจจุบันเมื่อมนุษย์มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น สัตว์ป่าหลายชนิดถูกล่าจนสูญพันธุ์ลงไปเรื่อย ๆ และเพื่อเป็นการตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ป่าและให้คนหันมาอนุรักษ์สัตว์ป่ามากขึ้น จึงมีการกำหนดวันอนุรักษ์สัตว์ป่าโลกขึ้น
โดยวันอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก หรือ วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี เนื่องจากเป็นวันที่ก่อตั้งภาคีอนุสัญญาไซเตส เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2516 เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มประเทศภาคีอนุสัญญาไซเตส 178 ประเทศ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติ
ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 16 หรือ CITES CoP16 ระหว่างวันที่ 3 – 14 มีนาคม 2556 ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 40 ปี ของการลงนามรับรองอนุสัญญาไซเตส เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2516 ณ กรุงวอชิงตัน ดี ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ประเทศไทย จึงได้เสนอต่อที่ประชุมให้วันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day)” โดยที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบตามที่ประเทศไทยเสนอ
ต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม 2556 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 68 ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้มีมติให้การรับรองและประกาศให้วันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก” อย่างเป็นทางการ เพื่อให้เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าโลก ตลอดจนร่วมตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่มีต่อมวลมนุษยชาติ
สำหรับประเทศไทยนั้น เริ่มจัดงานวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก อย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2557 โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งกิจกรรมในแต่ละปีจะมีการจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่า เพื่อให้เยาวชนและผู้ที่สนใจได้ศึกษา ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังให้เกิดความรักและหวงแหนธรรมชาติ นอกจากนี้ ในหลาย ๆ จังหวัดยังได้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ ปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ และการเสวนาต่าง ๆ ด้วย