กรมวิชาการเกษตร ขยายผล นโยบายรัฐมนตรีเกษตร “Ozone Farm โมเดลระบบเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง ที่มีเมล่อนเป็นพืชหลัก” ยกระดับสินค้าเกษตรปลอดภัย มูลค่าสูง สร้างรายได้สุทธิ 2,000,000 บาท/ไร่/ปี

14B0A8E3 CBAE 4DCB BA29 11DEE5C25B1D

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตรสู่ความสำเร็จ และเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ภายใน 100 วัน ตามนโยบายของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  โดยเน้นการผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย นำไปสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ยกระดับรายได้ภาคการเกษตรให้สูงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

E7AB2F29 FDA5 47EB B69A 39CECF6402EC

        

วันที่ 19 มีนาคม 2567 สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 (สวพ.1) จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี  76 จังหวัด 76 โมเดล “โมเดลการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง ภาคเหนือตอนบน” ณ โอโซนฟาร์ม ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร และเสริมศักยภาพเกษตรกรให้มีรายได้จากมูลค่าผลตอบแทนต่อพื้นที่ให้สูงขึ้น โดยเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย  นายอดิศร จันทรประภาเลิศ กล่าวต้อนรับ และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานเปิดงาน  

S 2719885

        

นางสาว จงรัก อิ่มใจ ผอ. สวพ. 1 กล่าวว่า โมเดล “ระบบเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูงที่มีเมล่อนเป็นพืชหลัก จังหวัดเชียงราย” ของนายพิเชษฐ์  กันทะวงศ์ เป็นโมเดลที่ชนะเลิศการประกวด 76 จังหวัด 76 โมเดล ของภาคเหนือตอนบน เมล่อนเป็นผลไม้ที่มีคุณประโยชน์มาก มีมูลค่าทางการตลาดสูง คุ้มค่ากับการลงทุน แต่เป็นพืชที่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชมาก จึงมีแนวคิดว่า การผลิตเมล่อนที่มีคุณภาพ และปลอดภัยจากการตกค้างของสารเคมี ย่อมจะสนองความต้องการของผู้บริโภค และที่สำคัญอยากให้ชาวบ้านเห็นว่าการทำการเกษตรปลอดภัยทำอย่างไร สามารถสร้างรายได้เพิ่มได้อย่างไร จึงทำการผลิตเมล่อนในโรงเรือน ที่สามารถป้องกันการเข้าทำลายของศัตรูพืช และควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อพืชปลูก รวมทั้งใช้แนวทางตลาดนำการผลิตบนพื้นฐานของมาตรฐานสินค้าเกษตร GAP ได้อย่างลงตัว เกิดเป็นธุรกิจเกษตร สามารถสร้างรายได้จากการทำเกษตรให้เกิดความยั่งยืน นอกจากเมล่อนแล้ว โอโซนฟาร์ม ยังสร้างรายได้ ด้วยการปลูกกัญชา มะเขือเทศ และมะเดื่อฝรั่งในโรงเรือนด้วย

S 2719887

สำหรับเมล่อนที่ปลูก มีหลายสายพันธุ์หมุนเวียนตามความต้องการของตลาด สำหรับพื้นที่ 1 ไร่ สามารถสร้างโรงเรือนขนาดพื้นที่ 100 ตารางเมตร ได้ 15 โรงเรือน ประกอบด้วยโรงเรือนเมล่อน 10 โรงเรือน กัญชา 2 โรงเรือน มะเขือเทศ 1 โรงเรือน และมะเดื่อฝรั่ง 2 โรงเรือน ใน 1 โรง ปลูกเมล่อนได้ 250 ต้น อายุปลูก 75-90 วัน ใน 1ปีจะปลูกเมล่อนได้ 4 ครั้ง ได้เมล่อนน้ำหนักต่อผลประมาณ 2 กิโลกรัม ได้ผลผลิต 500 กิโลกรัมต่อโรง ราคาขายที่ฟาร์มกิโลกรัมละ 150 บาท สร้างรายได้สุทธิ 1,136,000 บาทต่อปี สำหรับกัญชา อายุเก็บเกี่ยว 120-150 วันทำการเก็บเกี่ยว 2 ครั้งต่อปี สร้างรายได้สุทธิ 664,000 บาทต่อไร่ มะเขือเทศ สามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 45 วัน สร้างรายได้สุทธิ 120,000 บาทต่อปี และมะเดื่อฝรั่ง สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี สร้างรายได้สุทธิ 80,000 บาท รวมสร้างรายได้สุทธิ 2,000,000 บาท/ไร่/ปี

F091AE3B 0854 4F7E A92E 9452D4129E2C

โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย ได้เข้าไปทำการตรวจรับรองแหล่งผลิตพืช ตามมาตรฐาน GAP (มกษ.9001-2564) และสนับสนุนชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชสายพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตร (เชื้อราบิวเวอเรีย สายพันธุ์ DOA-B4 และ DOA-B 18) จนนำไปสู่การขยายผล ผลิตใช้เองในฟาร์มเพื่อกำจัดศัตรูพืช ทดแทนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งข้อดีของการใช้ชีวภัณฑ์คือ ไม่ทำให้เกิดการดื้อยาของศัตรูพืช นอกจากนี้ เชื้อราบิวเวอร์เรีย สามารถใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้ทั้งระยะตัวอ่อน และตัวเต็มวัย เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไก่แจ้ แมลงหวี่ขาว ไรแดง และหนอนผีเสื้อ

S 2719888

        

หลังจากทำการผลิตเมล่อนคุณภาพดีและปลอดภัยแล้ว จึงยกระดับผลผลิตเมล่อนให้มีมูลค่าสูงขึ้นโดยการสร้าง     แบรนด์เมล่อนให้มีความแตกต่างจากเมล่อนที่มีจำหน่ายตามท้องตลาด ปรับปรุงแพ็คเกจบรรจุภัณฑ์ให้น่าสนใจ และแปรรูปเมล่อนเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ เมล่อนอบแห้ง เครื่องดื่มเมล่อนเพื่อสุขภาพ น้ำเมล่อนพร้อมดื่ม นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดนำเมล่อนที่มีคุณภาพอยู่แล้วมาผลิตอาหารหลากหลายเมนูทำให้อาหารที่ได้มีรสชาตดีเต็มไปด้วยความมีเอกลักษณ์ และที่สำคัญเป็นอาหารที่ปลอดภัย เนื่องจากขบวนการผลิตเมล่อนมีการใช้ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรค และแมลงในโรงเรือนตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ลดการใช้สารเคมี ผลผลิตที่ได้จึงปลอดภัยต่อผู้บริโภค และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ในการผลิตเมล่อนยังได้รับการรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตร ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในคุณภาพด้วย

S 2719919

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเสริมว่า กิจกรรมภายในงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี 76 จังหวัด 76 โมเดล ประกอบด้วย แปลงสาธิต นิทรรศการ แปลงต้นแบบระดับเขตและระดับจังหวัด จำนวน 8 ต้นแบบ จัดเสวนา  “การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง ภาคเหนือตอนบน” โดย เกษตรกรต้นแบบ 8 จังหวัด 8 โมเดล และฐานเรียนรู้ 4 ฐานเรียนรู้ ประกอบด้วย 8 จังหวัด 8 โมเดล ภาคเหนือตอนบน  Mobile Unit การเลือกซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และ พ.ร.บ.ที่ กรมวิชาการเกษตรเกี่ยวข้อง Young Smart Farmer/ผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรที่ได้รับรอง GAP /อินทรีย์ การผลิตเมล่อน กัญชา มะเดื่อฝรั่ง และมะเขือเทศ ตามแนวทางระบบเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูงที่มีเมล่อนเป็นพืชหลัก ตลอดจนการแจกพันธุ์พืช ปัจจัยการผลิต แก่ผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งผู้ร่วมงานประกอบด้วย เกษตรกร ประชาชน ข้าราชการ พนักงาน บุคลากรภาครัฐ และเจ้าหน้าที่ จำนวน 300 ราย        

 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า กรมวิชาการเกษตรมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่ง ที่จะดำเนินการตามนโยบายของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ชูแนวทาง  “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” โดยทำการคัดสรรเกษตรกรที่มีองค์ความรู้ ให้เป็นเกษตรกรต้นแบบดีเด่นในระดับจังหวัด และระดับเขต เพื่อที่จะประชาสัมพันธ์ถ่ายทอด ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตพืชมูลค่าสูง และดำเนินการขยายผลโครงการที่ประสบความสำเร็จ ในการทำการเกษตรปลอดภัย สร้างรายได้สูง ให้กับทุกภาคส่วน ได้เรียนรู้ และร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านการปลูกพืชร่วมกัน เพื่อความมั่นคงยั่งยืนของเกษตรกรต่อไป