วันอังคารที่ 19 มีนาคม 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดศูนย์ผลิตและส่งเสริมพันธุ์สัตว์พระราชทานปากพนัง ณ ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เฝ้ารับเสด็จฯ และถวายกล่าวรายงานและขอพระราชทานกราบทูลเชิญเปิดแพรคลุมป้าย ศูนย์ผลิตและส่งเสริมพันธุ์สัตว์พระราชทานปากพนัง พร้อมด้วยนายพงษ์พันธ์ ธรรมมา รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับเสด็จฯ
สำหรับศูนย์ผลิตและส่งเสริม พันธุ์สัตว์พระราชทานปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นศูนย์ผลิตพันธุ์สัตว์พระราชทานสนับสนุนงาน ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน โดยในปี 2564 กรมปศุสัตว์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กปร. เพื่อดำเนินการก่อสร้าง และดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2565 และได้มีการดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ ดังนี้
1.ผลิตพันธุ์สัตว์ในศูนย์ผลิตและส่งเสริมพันธุ์สัตว์พระราชทานปากพนัง โดยได้นำพ่อ-แม่พันธุ์ไก่ไข่ สายพ่อพันธุ์ใช้ไก่พันธุ์โร๊ดไอส์แลนด์เรด และสายแม่พันธุ์ใช้ไก่พันธุ์บาร์พลีมัทร๊อค จากศูนย์พัฒนาพันธุ์สัตว์พระราชทานด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ผลิตไข่เข้าฟัก เพื่อผลิตไก่ไข่ลูกผสม อายุ 20 สัปดาห์ ซึ่งในระยะแรกดำเนินการผลิต ปีละ 3,000 ตัว และจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ ปีละ 4,000 ตัว
2.การส่งเสริมและสนับสนุนพันธุ์สัตว์
2.1. โรงเรียนตามโครงการพระราชดำริ จำนวน 13 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ตรัง และพัทลุง ไก่ไข่ 1,650 ตัว ปี ๒๕๖๕ ผลิตไข่ได้ 89,372 ฟอง
2.2. หญิงตั้งครรภ์รอบโรงเรียน ปี 2565 สนับสนุนพันธุ์สัตว์ปีก 625 ตัว ในพื้นที่จังหวัดสงขลา สตูล พัทลุง และตรัง 152 คน การดำเนินงานมี 2 รูปแบบ คือ เลี้ยงเองที่บ้าน และโรงเรียนเลี้ยงให้เนื่องจากครัวเรือนไม่มีความพร้อม ซึ่งโรงเรียนมอบไข่ให้เดือนละ 30 ฟอง/ราย และปี 2566 หญิงตั้งครรภ์จำนวน 256 คน พื้นที่จังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง ยะลา และปัตตานี สัตว์ปีก 1,315 ตัว
2.3. เกษตรกร และหน่วยงานอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2565 – 2566 สนับสนุนไก่ไข่ เพศเมีย 3,204 ตัว แก่เกษตรกร 350 ราย และศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ไก่ไข่ เพศผู้ 4,102 ตัว สนับสนุนเกษตรกร และหน่วยงานอื่นๆ
3.งานวิจัยการลดต้นทุนอาหารสัตว์ จากแนวพระราชดำริจากแนวพระราชดำริให้ศึกษาวัสดุในท้องถิ่นที่เกษตรกรเข้าถึงง่ายราคาถูก และยังรักษาสมรรถภาพการผลิตของสัตว์ได้ จึงได้นำกากเนื้อในเมล็ดปาล์ม ซึ่งเป็นผลพลอยได้ทางการเกษตรที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นภาคใต้ มีปริมาณมาก และผลผลิตต่อเนื่องตลอดทั้งปี มาใช้เป็นอาหารไก่ไข่เพื่อลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์เพื่อปรับปรุงพัฒนาสูตรอาหารสัตว์จากวัตถุดิบในพื้นที่ต่อไป